ไฟนอล! TOP เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 53.50 บ./หุ้น นำเงินลุย “พลังงานสะอาด”

ไฟนอล! TOP เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุน 53.50 บ./หุ้น คาดรับเงินกว่าหมื่นล้าน นำเงินจ่ายหนี้ พร้อมลุยธุรกิจ “พลังงานสะอาด” เพิ่มกำลังการกลั่นแตะ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน


บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ของการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปที่ราคา 53.50 บาทต่อหุ้น ตามที่บริษัทได้แจ้งความคืบหน้าของการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปของบริษัทฯ และได้เปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับการมีผลบังคับใช้ของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนของบริษัทฯ ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 รวมถึงกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปของบริษัทฯ คือ 52.0 – 54.0 บาทต่อหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 192,307,693 หุ้นโดยแบ่งเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ไม่เกิน 173,310,878  หุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปประมาณ 18,996,815 หุ้น

ทั้งนี้ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment shares) ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นในครั้งนี้จะมีอัตราการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Ratio) เท่ากับ 11.7681 หุ้นสามัญเดิมของบริษัทฯ ต่อ 1หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ (ในกรณีที่มีเศษของหุ้นที่เป็นทศนิยมที่เกิดจากการคํานวณให้ปัดเศษของหุ้นนั้นทิ้งทั้งจำนวน)

สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ของ TOP แบ่งเป็น 3 ข้อหลัก คือ ประการแรกคือ TOP เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีกำลังการกลั่นสูงสุดของประเทศ ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงให้นักลงทุนเห็นแล้วว่าผลประกอบการมีความมั่นคง สถานภาพทางการเงินแข็งแกร่ง

ประการที่สองคือ TOP เตรียมนำเงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ ประมาณ 11,500 ล้านบาท เพื่อใช้คืนหนี้บริษัทแม่ และสถาบันการเงิน ในการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สามารถรับน้ำมันดิบชนิดหนักได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาเป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีส่วนต่างกำไร (Margin) สูงขึ้น และการลงทุนธุรกิจโอเลฟินส์ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย สามารถขยายจากตลาดในประเทศไทยไปเป็นตลาดภูมิภาค ก้าวเป็นผู้นำระดับโลก

ส่วนประการที่สามคือ บุคลากรของ TOP ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เป็นบุคลากรชั้นนำ รวมทั้ง TOP ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ (ปตท.) จึงเพิ่มความมั่นใจขึ้นอีก ดังนั้นจึงเป็นมุมมองการลงทุนที่น่าสนใจในครั้งนี้

Back to top button