รฟม.เฮ! ศาลยกฟ้อง “บีทีเอส” กล่าวหาใช้อำนาจแก้หลักเกณฑ์ประมูล “สายสีส้ม”

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้องคดี “บีทีเอส” กล่าวหา “รฟม.”ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบแก้ไขหลักเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หวังเอื้อบริษัทเอกชนบางราย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ก.ย. 65) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้อง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165, 83, 90, 91, ความผิดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172, ความผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 กรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท

โจทก์ฟ้องสรุปว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมมีมติอนุมัติดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบาง ขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อมา รฟม. โดยคณะกรรมการคัดเลือกร่วมกันเห็นชอบกับร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก วิธีการ และหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอทางการเงินสูงสุดในการตัดสินเอกชนผู้ชนะการประมูล โจทก์ซื้อซองข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ต่อมา

โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าการ รฟม.ร่วมกับจำเลยที่ 2-7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบร่วมประชุมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและร่วมกันพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการประเมิน ข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ โดยให้ใช้เกณฑ์การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคร่วมกับข้อเสนอทางการเงิน หรือการประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา ( Price Performance)

ต่อมาเมื่อครบกำหนดเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุน จำเลยที่ 2-7 กลับไม่เปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อดำเนินการคัดเลือกต่อไป รฟม. โดยจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการคัดเลือกได้ประชุมกันแล้วมีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนดังกล่าวโดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 เป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขอให้ลงโทษตามกฎหมาย

ศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ โดยให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิค และการลงทุนและผลตอบแทนร่วมกัน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนด้านเทคนิคเป็นร้อยละ 30 คะแนน ด้านการลงทุนและผลตอบแทนเป็นร้อยละ 70 คะแนน หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดผ่านการประเมินสูงสุดและได้รับการประเมินให้เป็นผู้ชนะการคัดเลือก เพื่อประโยชน์ของรัฐตามความต้องการของ รฟม. ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 38 (6) และ (7) ประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ.2563 ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงกรรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ข้อ 12 การสงวนสิทธิ์ของ รฟม. ข้อ 12.2 กำหนดว่า สงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลด หรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติคณะรัฐมนตรี และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1และข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17 ประกอบกับขณะลงมติเห็นชอบนั้นยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลายื่นซองข้อเสนอ จึงไม่ทำให้ผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกได้ขยายระยะเวลาออกจากกำหนดยื่นข้อเสนอเดิมอีก 45 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้มีเวลาจัดเตรียมข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติมอีก พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 1 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน นั้น เห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน จากนั้นจำเลยที่ 1 ออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ฯ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือการกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตาม พ.ร.บ.การร่วมการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ประกอบกับการสงวนสิทธิ์ของ รฟม.ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารฯ เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ (RFP) ที่กำหนดการสงวนสิทธิ์ของ รฟม. ในข้อ 12.1 ว่า รฟม. สงวนสิทธิ์ตามดุลพินิจที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อีกทั้งการกระทำของจำเลย ไม่ได้เป็นกรณีที่มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่ง ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 7 คน จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษา นายธงชัย พรเศรษฐ์ หัวหน้าคณะทำงานทนายความของบีทีเอส เปิดเผยว่า หลังจากนี้คณะทำงานด้านกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไปพิจารณาว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ทางบีทีเอส เชื่อมั่นในพยานหลักฐานและจะต้องใช้สิทธิโต้แย้งเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอุทธรณ์

Back to top button