PTT ชูกลยุทธ์ 3P ลด “ก๊าซเรือนกระจก” ย้ำเป้า Net Zero ปี 93

ปตท. ชูกลยุทธ์ 3P ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก ย้ำเป้า Net Zero ภายในปี 2593 ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 73


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประกาศเจตนารมณ์ กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2573 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัดและแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยการจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท.(PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจใน 3 แนวทางหลัก (3P) ได้แก่

1.Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน หรือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้นโดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง ร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

2.Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ร้อยละ 32 ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 50

3.Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท.

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ปตท. ได้อาสาฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่าร้อยละ 80 สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี อีกทั้งสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี การดำเนินการภาคป่าไม้จึงเป็นอีกวิธีสำคัญ

โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติม รวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท.1 ล้านไร่และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ปตท.ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก โดยปัจจุบัน ปตท. ได้รับภารกิจเป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network : TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 275 องค์กร มีเป้าหมายมุ่งเป็น “เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero” ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน และปตท. ได้ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และศักยภาพการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด และแม้ว่าการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะมีความท้าทาย แต่กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นด้วยความพร้อม และทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมสร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย, สังคมโลก ด้วยจุดมุ่งหมายภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ที่มุ่งขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” นายอรรถพล กล่าว

นอกจากนี้ ปตท. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มโอเปกพลัสประกาศ ลดกำลังผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. นี้ รวมทั้งกรณีที่ทั่วโลกหวั่นเกรงปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า โดยกลุ่ม ปตท. ได้นำโจทย์เหล่านี้ มาใช้ในการประเมินราคาน้ำมันทุก 1 เดือน และประเมินการดำเนินธุรกิจทุก 3 เดือน โดยต้องยอมรับว่าราคาพลังงานผันผวน และนวัตกรรมพลังงานมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกลุ่ม ปตท. จึงต้องปรับตัวให้ทัน

“จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้อยู่ที่ประมาณ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปีหน้าคาดจะอยู่ที่ประมาณ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยกลุ่ม ปตท. วางแผนทั้งด้านสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและบริหารธุรกิจให้เหมาะสม มีผลตอบแทนที่ดีต่อทุกภาคส่วน” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้การบริหารด้านความมั่นคงนั้นในช่วงเริ่มเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปตท.ได้สตอกน้ำมันดิบ 4 ล้านบาร์เรล เพราะหวั่นว่าหากเกิดความรุนแรงน้ำมันจะขาดแคลน แต่เมื่อเหตุการณ์ยืดเยื้อ และโอกาสขาดแคลนเป็นไปได้ยาก จึงได้ทยอยจำหน่ายออกมาบ้าง ในขณะเดียวกัน ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่ปีนี้มีราคาสูง ทาง ปตท. ได้ร่วมบริหารงานกับกระทรวงพลังงานในการนำน้ำมันมาผลิตไฟฟ้าทดแทนแอลเอ็นจี ซึ่งทำให้ลดการนำเข้าแอลเอ็นจีเป็นจำนวนมาก ช่วยทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศต่ำที่สุด ถึงแม้ว่าคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (เทอร์มินอล) อาจจะยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ แต่ก็ถือว่าสร้างความมั่นคงต่อประเทศ และยังเดินหน้าร่วมลงทุนสถานีแห่งที่ 3 กับกัลฟ์ฯ ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ก็ยังเป็นไปตามแผนงานเดิมทุกประการ

Back to top button