KJL เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเป้า 16 บ. รับอานิสงส์ EV บูม หนุนกำไรโตทะลัก

KJL ลงสนามเทรดวันแรก! ลุ้นราคาวิ่งเป้า 16 บ. จาก IPO ที่ 13.50 บ. จ่อรับอานิสงส์ “ดิจิทัล-EV-โซลาร์รูฟ” กระแสบูม โบรกคาดกำไรปี 65-67 โตเฉลี่ย 10.3%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ย.65) บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายใต้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เป็นวันแรก

โดย KJL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้ไฟสวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟ และชิ้นส่วนงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL ซึ่งบริษัทจำหน่ายทั้งสินค้ามาตรฐานเคเจแอล และสินค้าสั่งผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ บริษัทได้ลิขสิทธิ์จาก “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” จากประเทศฝรั่งเศส เพื่อผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ดไฟฟ้ารุ่น Prisma iPM  โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ได้แก่ ตัวแทนจำหน่าย ผู้รับเหมาไฟฟ้า ร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป และลูกค้าผู้ใช้งานระดับองค์กร  ใน 6 เดือนแรก ปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสินค้ามาตราฐานเคเจแอล ร้อยละ 69 สินค้าสั่งผลิตร้อยละ 22 ที่เหลือเป็นรายได้จากสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า เศษเหล็ก โลหะแผ่น ร้อยละ 9  ของรายได้รวม

สำหรับ KJL มีทุนชำระหลังเสนอขาย 58 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 86 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 30 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 22.5 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 4.5 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท 3 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2565 ในราคาหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 405 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,566 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 13.99 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ซึ่งเท่ากับ 111.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.97 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย

ด้านนายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายตู้ไฟสวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟ ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJLรวมถึงสินค้าสั่งผลิต (Made to Order) งานระบบไฟฟ้าและงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษในรูปแบบที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ แบบครบวงจร โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัย แบรนด์ AMADA จากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผลิตภัณฑ์ KJL เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากลูกค้าในประเทศ ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับโลก การผลิตที่รวดเร็ว ส่งมอบตรงเวลา และมีสต็อกสินค้าพร้อมส่งให้กับลูกค้า หรือบริการ “KJL Now สั่งด่วนได้เร็ว” รวมถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าชั้นนำระดับโลก ที่ให้ลิขสิทธิ์แก่ KJL ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตู้สวิตช์บอร์ดไฟฟ้า รุ่น Prisma iPM

ทั้งนี้บริษัทฯ มั่นใจว่าการระดมทุนดังกล่าวจะเสริมความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในหลากหลายมิติและสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวน 384.97 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) นำไปใช้ก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร ลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL Innovation Campus เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น

โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าทุกระดับ นับตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้สอดรับกับการใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าของบริษัทฯ เป็นที่ต้องการมากขึ้นและเติบโตต่อเนื่องในอุตสาหกรรมต่างๆ  ทั้งนี้ KJL พร้อมขับเคลื่อนศูนย์นวัตกรรม KJL Innovation Campus ให้เป็นศูนย์วิจัย คิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ พร้อมต่อยอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าและเข้าถึงตลาดกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ผลักดันให้แบรนด์ KJL เป็นที่รู้จักและสร้าง Brand Awareness ระดับสากล ในฐานะ “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ” ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับเมกะเทรนด์ในอนาคต

“การเข้าเทรดในตลาด mai ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าหุ้น KJL จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีประสบการณ์ในธุรกิจมายาวนานเกือบ 30 ปี โดยมั่นใจ KJL ยังสร้างโอกาสในการเติบโตในระยะยาวและสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง” นายเกษมสันต์ กล่าว

ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างและมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ KJL ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ ตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ รวมถึง อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL หรือสินค้ามาตรฐานเคจแอล รวมถึงการผลิตและจำหน่ายตามคำสั่งการผลิตของลูกค้า

ทั้งนี้ KJL พร้อมเข้าระดมทุนในตลาด mai หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อนำเงินไปลงทุนขยายกำลังการผลิต และติดตั้ง solar rooftop  เพื่อลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ประกอบกับก่อสร้าง KJL Innovation Campus ผลักดันกำไร 2565-2567 เติบโตเฉลี่ยปีละ 10.3% ประเมินราคาเหมาะสมอิง PER 16 เท่า ได้ 16 บาท

Back to top button