ได้ (ไม่) คุ้มเสีย….คลังเดินเครื่องเต็มสูบรีด “ภาษีขายหุ้น”

ได้ (ไม่) คุ้มเสีย....คลังเดินเครื่องเต็มสูบรีด “ภาษีขายหุ้น" เริ่มเก็บปี 66


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

โดยสาระสำคัญในการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.1% โดยในปีแรกของการจัดเก็บกระทรวงการคลังได้ให้นักลงทุนเกิดความคุ้นเคย จึงจะจัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่ง หรือ 0.055% (รวมกับภาษีท้องถิ่น) ในปีแรก หลังจากนั้นในปีต่อๆ ไป จะจัดเก็บในอัตรา 0.11% (รวมกับภาษีท้องถิ่น) ซึ่งการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในครั้งนี้ จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะของรัฐ เพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อๆ ไป ของการจัดเก็บปีละ 16,000 ล้านบาทนั้น

สำหรับในมุมมองของ นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วันนี้ (30 พ.ย.65) ว่า มาตรการดังกล่าว แม้จะทำให้รัฐได้รับเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่มองว่าสภาพคล่องจากการซื้อขายหุ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ลดลง และอาจส่งผลต่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไป เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นของไทยมีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน นั้นเป็นเพราะอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าตลาดทุนอื่นๆในต่างประเทศ เมื่อรัฐนำมาตรการจัดเก็บภาษีขายหุ้นกลับมาใช้ จะทำให้ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติลดลง

นายพิชัย ยังมองว่า มาตรการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของรัฐ อาจยังไม่ให้การระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่ๆ หรือ IPO มีความน่าสนใจลดลง เพราะเมื่อปริมาณซื้อขายลดลงก็จะทำให้ P/E ของตลาดลดลงเช่นกัน ซึ่งต้องดูในระยะยาวว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์นั้น นายพิชัย เชื่อว่า จะมีหลายบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากค่าคอมมิชชั่นที่ลดลง จากปริมาณการเทรดที่ลงลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่สภาพคล่องส่วนใหญ่มาจากการเก็งกำไรระยะสั้น มากกว่าการลงทุนระยะยาว เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ขาดทุนก็จะส่งผลต่อภาษีนิติบุคคลของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะงดจ่ายให้กับภาครัฐเช่นกัน นั้นเท่ากับว่า มาตรการนี้อาจทำให้ฐานภาษีของรัฐมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ผลเสียในระยะยาวอาจมีผลกระทบในหลายด้าน จนอาจจะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

นายพิชัย มองว่า กระทรวงการคลัง อาจต้องพิจารณาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเก็บให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย หรือ ASCO ได้เคยเสนอทางที่เกิดผลกระทบ และแนวทางที่ควรจะเป็นต่อการจัดเก็บภาษีหุ้น

“เมื่อกระทรวงการคลังยืนยันจัดเก็บ ก็คงต้องน้อมรับเพราะชีวิตยังต้องเดินต่อไป ซึ่งในส่วนบริษัทหลักทรัพย์อาจต้องปรับตัว และหาทางเพิ่มรายได้ในส่วนที่ขาดหายไป โดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ภาครัฐก็ต้องคำนึงว่าสิ่งที่ทำ ได้คุ้มเสียหรือไม่” นายพิชัย กล่าว

ด้านนายวิชัย วชิรพงศ์ (เสี่ยยักษ์) นักลงทุนรายใหญ่ มองว่า มาตรการจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่จะเริ่มขึ้นในปี 2566 การเก็งกำไรระยะสั้นจะลดลง ต้นทุนของทุกคนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนการซื้อขายเสียค่าคอมมิชชั่นน้อยมาก แต่เมื่อการเก็บภาษีขายหุ้นเกิดขึ้น กระดาน TFEX รวมถึงกลุ่มพร็อพเทรด จะได้รับกระทบหนัก

ทั้งนี้ในการเก็บภาษีขายหุ้นก็มีข้อดี คือ ลดความผันผวนของตลาดลง จากการเก็งกำไรของกลุ่มนักลงทุนระยะสั้น ทำให้นักเทรดที่ลงทุนระยะยาวประสบความสำเสร็จมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้การเทรดในตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมาก

“การเก็บภาษีนั้นก็ดี เนื่องจากภาครัฐก็ได้ไป แต่ทีนี้ทุกคนจะคิดเยอะมากขึ้นเพราะการซื้อขายหุ้นหนึ่งตัวมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากเดิมไม่มี ทำให้สร้างราคายากขึ้น ซึ่งการเก็บนั้นก็ไม่ได้เยอะเพียงแค่เซนติเมนต์เสียหาย” นายวิชัย กล่าว

Back to top button