ทองปิดลบ 5.6 เหรียญ เซ่นดอลลาร์แข็ง หลังตัวเลขจ้างงาน “สหรัฐ” พุ่ง

ทองปิดลบ 5.6 เหรียญ เซ่นดอลลาร์แข็งและบอนด์ยีลด์ดีดตัวขึ้น ในช่วงแรกขานรับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (2 ธ.ค.65) โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งเกินคาด ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงของแรงงานสูงกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 5.6 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,809.6 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปรับตัวขึ้น 3.2% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 40.9 ดอลลาร์ หรือ 1.79% ปิดที่ 23.25 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 28.3 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 1,026.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 45.20 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 1,901.10 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงแรก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้น ขานรับแนวโน้มที่เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด

ขณะที่ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญตัวสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 13-14 ธ.ค.65

ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวระดับ 3.7% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4.6%

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

Back to top button