“สธ.” แนะผู้เดินทางไกล ช่วงปีใหม่ พก 4 ยาสมุนไพรติดตัว

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ แนะนำผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงปีใหม่ แนะพก 4 ยาสมุนไพรติดรถไว้ แก้อาการป่วยระหว่างเดินทางไกลปีใหม่ พร้อม 2 ท่าการบริหารร่างกายแบบไทย แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย


นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ผู้ที่ต้องนั่งรถเป็นเวลานานๆ อาจมีปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างการเดินทาง จึงขอแนะนำ 4 ยาสมุนไพรที่จำเป็นพกติดรถ ติดตัว ช่วงเดินทางไกล ได้แก่ ดังนี้

1. ยาฟ้าทะลายโจร ช่วยบรรเทาอาการโรคหวัด เจ็บคอ กินครั้งละ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (อุจจาระไม่เป็นมูกหรือ มีเลือดปน) ให้กินครั้งละ 0.5 – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง และใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง ให้กินยาฟ้าทะลายโจร ที่มีสาร andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน

2. ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ จิบเมื่อมีอาการไอ ห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล

3.ยาหอมอินทจักร์ บรรเทาอาการ จุกเสียด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว การใช้ให้ได้ผลดีควรนำมาละลายน้ำอุ่นรับประทานขณะอุ่นๆ เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมของกระเพาะอาหาร

4.ยาดมสมุนไพร บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้สดชื่น และ ผ่อนคลาย

ทั้ง 4 ตัวเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยา ร้านสะดวกซื้อ และเบิกจ่ายยาดังกล่าวได้ตามสิทธิ์ใน รพ.รัฐ ทั่วไป” นพ.ขวัญชัย กล่าว

สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลานานๆ มักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แนะนำ 2 ท่าการบริหารร่างกายแบบไทย “ฤาษีดัดตน” คือ

1.ท่าชูหัตถ์วาดหลัง ช่วยบริหารไหล่ คอ อก ท้อง และ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตที่ศีรษะและแขน เริ่มจากนำมือทั้งสองข้างประสานกันที่ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจให้ลึกที่สุด ค่อยๆ ชูมือขึ้นเหนือศีรษะให้แขนแนบหู กลั้นลมหายใจไว้สักครู่และดัดมือที่ประสานให้หงายขึ้น ผ่อนลมหายใจออกค่อยๆ วาดมือไปทางข้างหลัง กำหมัดวางไว้ที่บั้นเอว แล้วใช้กำปั้นกดบั้นเอวทั้งสองข้างพร้อมสูดลมหายใจลึกที่สุด กลั้นลมหายใจสักครู่พร้อมกดเน้น และผ่อนลมหายใจออก คลายการกดกำปั้น ไล่กดไปที่กลางหลังจนกำปั้นชิดกันกลางบั้นเอว

2.ท่าแก้เกียจ ช่วยบริหารส่วนแขน เริ่มจากท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิ ยกมือขึ้นและกำมือประสานกันไว้ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมเหยียดแขนดัดให้ฝ่ามือยื่นไปทางด้านซ้ายให้มากที่สุด ลำตัวตรงหน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับงอแขนทั้งสองข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็นเหยียดแขนด้านขวา ด้านหน้า และ เหยียดแขนเหนือศีรษะ ตามลำดับ แล้วพักแขนที่ศีรษะ แล้วกลับสู่ท่าเตรียม

“ทั้ง 2 ท่านี้ สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยร่างกายของผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ชะงัด นอกจากนี้ ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะทางไกลควรพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง งดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ งดทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เพราะจะส่งผลให้สมรรถนะในการขับขี่ยานพาหนะลดลง และควรตรวจสอบยานพาหนะให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน” นพ.ขวัญชัย กล่าว

Back to top button