KBANK ชี้กรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 33.50-34.30 บ. จับตาถ้อยแถลงเฟด-ฟันด์โฟลว์

KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไปที่ระดับ 33.50-34.30 บาท/ดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ อีกทั้งสถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (9-13 ม.ค.66) ที่ระดับ 33.50-34.30 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 6 ม.ค.66 ที่ระดับ 34.03 บาท/ดอลลาร์

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 8 เดือนที่ 33.78 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามจังหวะเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ยังคงขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัว หลังจากที่รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนว่า แม้เฟดจะยังจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่จะเป็นลักษณะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากความหวังเรื่องการเปิดประเทศของจีนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนของนักลงทุนเพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 3-6 ม.ค.66 นั้นนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 7,335 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยถึง 41,571 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 43,548  ล้านบาท หักตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,977 ล้านบาท)

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือนธ.ค. 65 อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน

Back to top button