สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ม.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 ม.ค. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ที่สูงเกินคาด ซึ่งช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,949.41 จุด เพิ่มขึ้น 205.57 จุด หรือ +0.61%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,060.43 จุด เพิ่มขึ้น 44.21 จุด หรือ +1.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,512.41 จุด เพิ่มขึ้น 199.06 จุด หรือ +1.76%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ขานรับการเปิดเผยผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกำไรที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐสนับสนุนความหวังที่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing)

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 453.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.91 หรือ +0.42%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,095.99 จุด เพิ่มขึ้น 52.11 จุด หรือ +0.74%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,132.85 จุด เพิ่มขึ้น 51.21 จุด หรือ +0.34% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,761.11 จุด เพิ่มขึ้น 16.24 จุด หรือ +0.21%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน หลังหุ้น 3i Group ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนพุ่งขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,761.11 จุด เพิ่มขึ้น 16.24 จุด หรือ +0.21%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากจีนเปิดประเทศ นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.07% ปิดที่ 81.01 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.35 ดอลลาร์ หรือ 1.57% ปิดที่ 87.47 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 12.6 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,930 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 7.9 เซนต์ หรือ 0.33% ปิดที่ 24.02 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 23.1 ดอลลาร์ หรือ 2.21% ปิดที่ 1,023 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 24.10 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 1,663.80 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) ขานรับขัอมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 101.8360

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.21 เยน จากระดับ 129.56 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9198 ฟรังก์ จากระดับ 0.9178 ฟรังก์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.2691 โครนา จากระดับ 10.2168 โครนา แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3334 ดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3381 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0889 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0914 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2407 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2398 ดอลลาร์

ตลาดหุ้นออสเตรเลีย, ตลาดหุ้นไต้หวัน, ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการวานนี้ (26 ม.ค.) เนื่องในวันหยุดประจำชาติ

Back to top button