สธ. แจงโควิดสายพันธุ์ “CH.1.1” หลบภูมิคุ้มกัน LAAB แพร่ช้ากว่า “BN.1”

สธ. ชี้โควิดสายพันธุ์ CH.1.1 อาจหลบภูมิคุ้มกันจาก LAAB แต่แพร่หรือจับกับเซลล์ไม่ดีเท่า BN.1 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในไทย


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย ว่า สายพันธุ์โควิด CH.1.1 อาจจะหลบภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ที่บ้านเราใช้พอสมควร หรือใช้กับมันไม่ค่อยได้ผลจริงๆ โดยตอนนี้เจอมากขึ้น 67 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งตัวนี้คือลูกหลานของ BA.2.75 มีตำแหน่งที่กลายพันธุ์เพิ่มที่ตำแหน่ง R346T, K444T, L452R, F486S โดยสายพันธุ์นี้สูงในเชิงหลบภูมิ แต่การไปจับกับเซลล์ไม่ได้มากอะไร แต่ตัวอื่นๆ XBB.1.5 ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีเยอะมาก ค่อนข้างสูงในแง่หลบภูมิแต่น้อยกว่า CH.1.1 แต่จับเซลล์ได้ดีกว่า

ส่วนประเทศไทย BN.1 ซึ่งเป็นลูกหลาน BA.2.75 ที่พบสูง 70-80% ของ BA.2.75 ทั้งหมดในไทย จับเซลล์ได้ดีกว่า แต่หลบภูมิน้อยกว่าเล็กน้อย 2 ตัวนี้ โอกาสที่จะเห็น XBB.1.5 หรือ CH.1.1 ที่เข้ามาเบียดอย่างรวดเร็วอาจจะไม่เกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยเจอ CH.1.1 มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ขึ้นตามสภาพของมันและลดลงมา ซึ่งพบมากสุดคือ CH.1.1.3 ที่เป็นลูกหลาน

“ประเทศไทยต้นปีที่แล้ว BA.1 พบมากสุด ถัดมาถูกเบียดเป็น BA.2 จากนั้น BA.5 เข้ามาแทนที่ ตอนนี้ก็ลดลงไป กลายเป็นวันนี้ BN.1 ตั้งแต่ ม.ค. 2566 ที่เข้ามาเป็นตัวหลักในประเทศไทย มี CH.1 มีพบบ้าง แต่ไม่ได้หนาขึ้น ดังนั้น LAAB ในบ้านเรายังใช้ ไม่ได้กระทบมาก แต่เจอ CH.1 ประสิทธิผลอาจจะลดลงเล็กน้อย แต่คนติด CH.1.1 ไม่ได้เยอะ ก็นยังสามารถใช้ LAAB ได้ต่อไป ส่วน XBB ยังไม่ได้เห็นอะไรมาก แต่ที่พบเพิ่มขึ้นอาจมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่จะจับตาดูว่าจะพบมากขึ้นเร็วหรือไม่” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ขณะนี้ประชาชนไทยฉีดวัคซีนเยอะ อัตราความครอบคลุมค่อนข้างสูง หลายคนติดเชื้อไปแล้ว 1-2 ครั้ง ฉีดวัคซีนบวกติดเชื้อก็จะมีภูมิในระดับหนึ่ง วันนี้คนไข้ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลดลงชัดเจน ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนตอนกลางปี 2564 ที่มีเดลตา ทุกรายงานที่มีเป็นการรายงานเรื่องการแพร่ แต่ไม่มีเรื่องความรุนแรงอะไรที่เพิ่มจากโอมิครอน หรือมีการกลายพันธุ์จนรุนแรงขึ้น ตายเร็วขึ้น ยังไม่มีข้อมูลพวกนี้ คือ ไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่อาจแพร่เร็วขึ้น ส่วนกรณีคนสูงอายุมากๆ ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ยังต้องระวัง เพราะทำให้มีอาการหนักได้ บางประเทศในยุโรปมีนโยบายว่า ถ้าแข็งแรงดีไม่ต้องฉีดบูสเตอร์ก็ได้ แต่เป็นประเทศส่วนน้อย

Back to top button