PTECH ปิดดีลรับงาน OR “ตรวจสอบระบบถังก๊าซหุงต้ม” ปูพรมเข้าตลาดฯ

PTECH ปิดดีลเซ็นสัญญารับงาน OR เข้าทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้ม พระนครศรีอยุธยาและสงขลา มูลค่างานกว่า 20 ล้านบาท มั่นใจปีนี้แบ็กล็อกทะลุ 300 ล้านบาท ขณะที่รายได้โตกว่า 10% พร้อมส่งสัญญาณเตรียมยื่นไฟลิ่ง เข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็วๆนี้


ดร.ทิวา ศิวะภิญโญยศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเออี เทคนิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH ประกอบธุรกิจประเภทกิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ โดยให้บริการด้านกิจกรรมงานวิศวกรรมและการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง หรืองานระบบเอ็กซเรย์ (ตรวจสอบ) โครงสร้าง เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามเซ็นสัญญาจ้างเหมาทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ณ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR คิดเป็นมูลค่างานกว่า 20 ล้านบาท

ทั้งนี้  ต้องขอขอบคุณทาง “OR” ที่ให้ PTECH เข้าไปดูแลงานด้านบริการตรวจสอบระบบทางวิศวกรรมในโปรเจ็กต์งานเอ็กซเรย์ถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ณ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง และ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำศักยภาพความเป็นมืออาชีพในการเป็นหนึ่งในผู้นำระดับต้นๆของประเทศทางด้านงานบริการตรวจสอบทางวิศวกรรม

โดยบระหว่างการรอผลประมูลงานเอ็กซเรย์ถังก๊าซหุงต้ม ปตท. จาก OR ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติม โดยมีมูลค่างานรวมกว่า 30 ล้านบาท พร้อมทั้งเตรียมต่อยอดธุรกิจหลักไปสู่งานกลุ่มซ่อมบำรุงในอนาคต โดยล่าสุดบริษัทฯอยู่ระหว่างการเข้าประมูลงานซ่อมบำรุงในกลุ่มบริษัท ปิโตรเลี่ยมอื่น ๆ มูลค่างานปะมาณ 96 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปดีลได้ภายในไตรมาส 2/2566 นี้ รวมถึงงานของภาคเอกชนในโปรเจกต์อื่น ๆ ทั้งนี้หากดีลงานโปรเจกต์ใหม่ๆแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ในปีนี้ บริษัทฯจะมี Backlog เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 300 ล้านบาทอย่างแน่นอน

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมด้านงานวิศวกรรมในปัจจุบัน มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหลังจากนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถขยายตัวได้ในระดับที่สูงกกว่า 20% ต่อปี (เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19) ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมกลับสู่ภาวะปกติ 100% แล้ว โดยจะเห็นได้จากเริ่มมีการทยอยจัดจ้างงานรับเหมาและตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงโครงการบิ๊กโปรเจกต์ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ดังนั้น จากปัจจัยในเชิงบวกดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯได้รับอานิสงส์จากการกลับมาฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ส่งผลให้บริษัทฯตั้งเป้าอัตราการเติบโตในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 10%  จากการเข้าประมูลงานใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็จะต่อยอดธุรกิจไปในส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ

 ดร.ทิวา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้บริษัทฯได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเดินหน้าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรายละเอียดทางบัญชี และโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินกรณีการเตรียมเอกสารยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)ในขั้นตอนต่อไป

“สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคตให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทฯจะใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการ ด้วยการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ใช้ในงานตรวจสอบด้านวิศวกรรม ซึ่งหากมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดี จำนวนมาก และขนาดใหญ่ขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้ารับงานของบริษัทฯได้ในอนาคต รวมถึงจะเป็นการส่งผลบวก     สู่ความน่าเชื่อถือให้กับผู้ว่าจ้าง คู่ค้า และพันธมิตรอื่น ๆ อีกด้วย”

Back to top button