CIVIL แย้มผลงาน Q1 สดใส ลุยชิงงานใหญ่ดัน “แบ็กล็อก” ทะลุ 1 หมื่นล้าน

CIVIL เผยทิศทางธุรกิจ Q1 เติบโตต่อเนื่อง เดินหน้าประมูลโครงการขนาดกลาง-ใหญ่ทั่วประเทศ เติมแบ็กล็อก 10,324 ล้านบาท มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและเร่งส่งมอบงานตามแผน


นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจช่วงไตรมาส 1/2566 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการขยายตัวของการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่เติบโตตามเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบริษัทมีแผนมุ่งเน้นการเข้ารับโครงการขนาดกลาง-ใหญ่ เช่น งานถนน, งานก่อสร้างสนามบิน เป็นต้น รวมถึงการขยายงานก่อสร้างประเภทใหม่

อาทิ งานระบบชลประทาน และ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน และต่อยอดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องธุรกิจเดิม เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2566 เป็นต้นไป  ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้มูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น โดย Backlog ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่จำนวน 10,324 ล้านบาท

บริษัทได้พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานก่อสร้างอย่างเต็มที่ พร้อมรักษาความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสม อีกทั้งยังคงเพิ่มโอกาสการเติบโตโดยการเข้ารับงานที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสามารถส่งมอบงานคุณภาพได้ตามแผนจำนวน 13 งาน อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงสาย 3901 วงแหวนตะวันตกด้านซ้ายตอน 3, ทางหลวงสาย 3246 บ้านเกาะโพธิ์, ทางหลวงสาย 3701 ชลบุรี-พัทยา และ สนามบินตรัง มูลค่ารวม 3,071 ล้านบาท ประกอบกับราคาวัสดุที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยเสริม เชื่อว่าศักยภาพการดำเนินงานที่มีอยู่จะสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างแน่นอน” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว

ด้านผลประกอบการไตรมาส 4/2565 บริษัทมีรายได้รวม 1,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,327 ล้านบาท จำนวน 139 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 10.5 % และ มีกำไรสุทธิ 62.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 22.5 ล้านบาท จำนวน 40 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.9 %

ขณะที่ผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 6,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,063 ล้านบาท จำนวน 1,032 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 20.4% และ มีกำไรสุทธิ 64.5 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 192.7 ล้านบาท จากการตีความขอบเขตงานก่อสร้างตามแบบของโครงการในกลุ่มงานรถไฟ ซึ่งเป็นการปรับปรุงต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นแบบครั้งเดียว

Back to top button