SELIC ยื่นไฟลิ่ง “พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์” ขายไอพีโอ 115.71 ล้านหุ้น จ่อเทรด mai

SELIC ยื่นไฟลิ่งบริษัทย่อย "พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์" ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์-ฉลากกาว เสนอขาย IPO จำนวน  115.71 ล้านหุ้น เข้าเทรด mai ระดมทุนขยายลงทุนอาเซียน เพิ่มกำลังผลิต  ตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็น FA


บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือ SELIC ส่งบริษัทย่อย คือ บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMC ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 115,715,000 หุ้น หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ (Sector) สินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดยวัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม, ลงทุนขยายกำลังการผลิตและชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง, ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อสินค้า และเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

สำหรับ PMC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์ (Sticker) หรือฉลากกาว (Self-Adhesive Label) รายใหญ่ของประเทศ โดยจำหน่ายสติ๊กเกอร์เปล่า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สติ๊กเกอร์กระดาษ สติ๊กเกอร์ฟิล์ม และสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ โดยลูกค้าอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์ฉลากสินค้า (Printers) และผู้ผลิตฉลากสินค้า (Converters) เป็นหลัก เพื่อนำไปออกแบบ จัดพิมพ์ลวดลายและตัดให้ได้รูปทรง เป็นฉลากสินค้าให้แก่ลูกค้าเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือ End Users อีกทอดหนึ่ง

บริษัทจำหน่ายสติ๊กเกอร์ให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านบริษัทเอง และ 2 บริษัทย่อย คือ PMC Label Materials PTE., Ltd. (PMCS) ในสิงคโปร์ และ PMC Label Materials (Malaysia) SDN. BHD. (PMCM) ในมาเลเซีย ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าในประเทศ 60% ส่วนอีก 40% จำหน่ายให้แก่ลูกค้ากว่า 15 ประเทศทั่วโลก โดยมีฐานลูกค้าหลักในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงาน 1 แห่ง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จังหวัดสมุทรสาคร กำลังการผลิตสติ๊กเกอร์ 75 ล้านตารางเมตรต่อปี ขณะที่ลงทุนขยายกำลังการผลิตสติ๊กเกอร์อีก 110 ล้านตารางเมตรต่อปี มูลค่าลงทุนราว 190 ล้านบาท อยู่ระหว่างการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์และคาดเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/67 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 185 ล้านตารางเมตรต่อปี ถือว่าใหญ่สุด 3 ลำดับแรกของผู้ประกอบการในประเทศไทย

ทั้งนี้บริษัทวางเป้าหมายก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายสติ๊กเกอร์เปล่า (Sticker Label) ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีแผนขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า ด้วยการลงทุนเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อดึงดูดฐานลูกค้าใหม่กลุ่มผู้ผลิตฉลากสินค้าข้ามชาติชั้นนำ (Global Converters) ที่ส่วนใหญ่จะรับงานผลิตฉลากสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในภูมิภาค

โดยบริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่ 68% มาจากสติ๊กเกอร์กระดาษ ส่วนอีก 31% มาจากสติ๊กเกอร์ฟิล์ม เช่น ลามิเนต (Laminate) พีวีซี (PVC) โพลีโพรพิลีน (PP) และโพลีเอทิลีน (PE) เป็นต้น และส่วนที่เหลือ 1% มาจากสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ เช่น อลูมินัมฟอยล์ (Aluminum Foil) และโฮโลแกรม เป็นต้น โดยในอนาคตคาดว่ารายได้จากสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นตามผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ฉลากยางรถยนต์ (Tire Label) และสติ๊กเกอร์ติดกระเป๋าเดินทาง (Luggage Tag) ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายในปีนี้

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายสู่ระดับ 1,000 ล้านบาท โดยจะรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ด้แก่ กลุ่มลูกค้าโรงพิมพ์และผู้ผลิตฉลากสินค้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและอาเซียน มีเป้าหมายเพิ่มศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Centers) ครบ 5 แห่ง

บริษัทยังตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตรากำไรผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์ฟิล์ม เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตฉลากสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภค และเจาะกลุ่มลูกค้า End Users โดยตรงเพื่อให้เกิดการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ (Spec-in) และเกิดการสั่งผลิตในรูปแบบ Project-based Order จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้อัตรากำไรสูงขึ้นในอนาคต และในระยะยาวบริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มอัตรากำไรและตอบสนองต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว

โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 7 เม.ย.66 มี SELIC ถือหุ้น 100% ภายหลัง IPO จะลดสัดส่วนเหลือ 70%

ในช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้รวม 696.7 ล้านบาท 814.6 ล้านบาท และ 861.1 ตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิ 40.5 ล้านบาท 41.1 ล้านบาท และ 18.0 ล้านบาท ตามลำดับ อัตรากำไรที่ปรับตัวลดลงในปี 65 สาเหตุหลักจากต้นทุนการผลิตสินค้าได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหลายประการ เช่น ราคาวัตถุดิบยังคงสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก อัตราค่าระวางเรือที่ถึงแม้จะเริ่มปรับตัวลดลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ

ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 708.8 ล้านบาท หนี้สินรวม 439.5 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้นรวม 269.3 ล้านบาท

บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี

Back to top button