สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 พ.ค. 2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 พ.ค. 2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (2 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ และความเสี่ยงที่สหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,684.53 จุด ร่วงลง 367.17 จุด หรือ -1.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,119.58 จุด ลดลง 48.29 จุด หรือ -1.16%, และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,080.51 จุด ลดลง 132.09 จุด หรือ -1.08%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (2 พ.ค.) ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง และนักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 461.08 จุด ลดลง 5.81 จุด หรือ -1.24% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,383.20 จุด ลดลง 108.30 จุด หรือ -1.45%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,726.94 จุด ลดลง 195.44 จุด หรือ -1.23% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,773.03 จุด ลดลง 97.54 จุด หรือ -1.24%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (2 พ.ค.) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งบดบังปัจจัยบวกจากการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งของเอชเอสบีซีซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่สุดของยุโรป

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,773.03 จุด ลดลง 97.54 จุด หรือ -1.24% ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 1 เดือน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ในวันอังคาร (2 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งวิตกว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 4 ดอลลาร์ หรือ 5.3% ปิดที่ 71.66 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 3.99 ดอลลาร์ หรือ 5% ปิดที่ 75.32 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ในวันอังคาร (2 พ.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 31.10 ดอลลาร์ หรือ 1.56% ปิดที่  2,023.30 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2566

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 38.90 เซนต์ หรือ 1.54% ปิดที่ 25.619 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.  เพิ่มขึ้น 13.60 ดอลลาร์ หรือ 1.28% ปิดที่ 1,078.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 25.80 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 1,421 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (1 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานลดลงแตะระดับต่ำสุดรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.20% แตะที่ระดับ 101.9500

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 136.6540 เยน จากระดับ 137.4590 เยนในวันจันทร์ (1 พ.ค.) ขณะเดียวกันก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8933 ฟรังก์ จากระดับ 0.8962 ฟรังก์, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3017 โครนา จากระดับ 10.3359 โครนา แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3620 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3540 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.1001 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0969 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2469 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2487 ดอลลาร์

Back to top button