ปีทอง “รับเหมา” จับตา 3 หุ้นคว้า “บิ๊กโปรเจกต์” หลังเลือกตั้ง

โบรกมองปี 66 “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” ฟื้นตัวโดดเด่น เนื่องจากจะมีงานโครงการขนาดใหญ่ออกมาจำนวนมากหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรม


บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 65 มีผลประกอบการรวมขาดทุน 2,767 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 5 หมวดธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ขาดทุนหลังเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน เช่น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง, ต้นทุนการเงิน, ต้นทุนพลังงาน, ปัญหาแรงงาน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้โครงการต่างๆ มีการเลื่อนประมูลหรือส่งมอบ

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจ บจ.กลุ่มรับเหมาฯ ใน SET จำนวน 28 บริษัท พบว่าปี 65 มีเพียง 10 บริษัทเท่านั้นที่กำไรสุทธิเติบโตจากปี 64 ส่วนที่เหลือกำไรลดลงหรือขาดทุน โดยมีถึง 13 บริษัทที่ผลประกอบการปี 65 ขาดทุนสุทธิ ตั้งแต่ 78 – 4,759 ล้านบาท โดยมีถึง 12 บริษัทที่ขาดทุนมากกว่า 100 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 66 หมวดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะฟื้นตัว เนื่องจากจะมีงานโครงการขนาดใหญ่ออกมาจำนวนมากหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั้งรายใหญ่ที่มีส่วนร่วมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่และรายย่อยที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้รับเหมาช่วง  (Sub-contractor) ตลอดจนธุรกิจผลิตและค้าขายวัสดุก่อสร้าง

พร้อมประเมินมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐปี 66 อยู่ที่ 8.4 – 8.5 แสนล้านบาท ขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการได้ต่อเนื่อง ภายหลังการหยุดชะงักและล่าช้าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

อีกทั้งยังมีโครงการประมูลใหม่ ที่จะเริ่มก่อสร้างช่วงปี 66 โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการรถไฟความ เร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า กำไรปกติปี 66 ของกลุ่มรับเหมาฯ จะอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อน เพราะงานในมือสูงรองรับรายได้ต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการใหม่จำนวนมาก

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองแนวโน้มปี 66 กลุ่มรับเหมาฯ ฟื้นตัว โดยจะได้แรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนๆ

โดยโครงการขนาดใหญ่ที่คาดจะเปิดประมูลในปี 66 เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย, รถไฟทางคู่เฟส 2, มอเตอร์เวย์ รวมทั้งหมดประมาณ 4.9 แสนล้านบาท จะช่วยเพิ่มงานในมือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และผลประกอบการในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมแรงเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในช่วงที่มีการเปิดประมูล

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า หุ้นรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลบวกจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ และเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะชูนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการหาเสียง ซึ่งจะช่วยเติม Backlog ให้กับกลุ่มรับเหมาฯ และปี 66 คาดหวังจะเห็นการเปิดประมูลโครงการใหญ่เพิ่มอีกหลายโครงการ ส่งผลบวกต่อผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มฯ เติบโตโดดเด่นตามยอดการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้น หลังหมดปัญหาแรงงานขาดแคลน จากการที่ภาครัฐเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เดือน ส.ค.ปี ที่ผ่านมา

ด้านนายปฐมพล สาวทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) ราว 3.5 – 3.6 พันล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปี 66 ประมาณ 2.2 – 2.3 พันล้านบาท ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญารับงานอีกกว่า 3 – 3.5 พันล้านบาท คาดทยอยเห็นความชัดเจนในปีนี้ราว 3 พันล้านบาท

ขณะที่ปี 66 บริษัทยังมีความสนใจและมองโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลงานรับเหมาก่อสร้างใหม่ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ประเมินเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 1 -1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งสัดส่วนออกเป็นกว่า 80% เป็นงานจากภาคเอกชน ในส่วนที่เหลือราว 20% เป็นงานโครงการภาครัฐ โดยเบื้องต้นบริษัทคาดหวังจะมีโอกาสได้รับงานเข้ามาเติมแบ็กล็อกไม่น้อยกว่า 3,300 ล้านบาทในปีนี้

โดยการเติบโตของรายได้ในปี 66 ตั้งเป้าทำได้ไม่ต่ำกว่า 3.5 พันล้านบาท และมีโอกาสที่รายได้จะกลับมาเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,846.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการระบาดของไวรัส โควิด-19

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างปีนี้ มองว่ายังคงมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงอยู่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมางานโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจะมีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์ และเหล็กที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้จะปรับตัวลดลงมากบ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2564 ดังนั้นจึงมีผลระทบต่ออัตราการทำกำไรอยู่ ในขณะที่ต้นทุนแรงงานนั้น บริษัทมองว่ามีผลกระทบน้อยมากเพราะปกติให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอยู่แล้ว

ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ประเมินว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมปี 66 จะเติบโตดีกว่าปี 65 โดยอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มฟื้นตัว เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการลงทุนของ ผู้ประกอบการเริ่มคึกคักมากขึ้น และเป็นผลบวกต่อธุรกิจของ PYLON

โดยปีนี้คาดว่าจะมีโครงการมิกซ์ ยูส ของภาคเอกชนจะกลับมาลงทุน มากยิ่งขึ้น หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชะลอตัวไปมาก ส่วนงานคอนโดแนวสูง น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามภาพรวมของภาวะ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยบริษัทยังคง เดินหน้าประมูลงานใหม่ๆ ซึ่งการประมูลงานในแต่ละปี บริษัทจะเข้าประมูลงานมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังไม่มีการระบุว่าจะได้รับงานมูลค่าเท่าไร

ทั้งนี้ปี 66 คาดจะมีปริมาณงานเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เช่น งานเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดว่าจะเริ่มมีความ ชัดเจนในปีนี้ และบริษัทก็จะได้รับอานิสงส์ จากมูลค่างานขนาดใหญ่นี้

ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับงาน 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมประมาณ 700 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog)อยู่ที่ราว 1,600 ล้านบาท ที่จะสามารถรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท โดยเป็นงานภาคเอกชน 62% งานภาครัฐ 38%

“ปี 2565 ถือว่าเราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว คาดว่ารายได้ทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 1,200-1,300 ล้านบาท โดยเชื่อว่าสถานการณ์จากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ และประเมินแนวโน้มธุรกิจปี 2566 น่าจะดีขึ้น บริษัทยังมีงานประมูลโครงการใหญ่เข้ามาเสริมพอร์ต ได้อย่างต่อเนื่อง” ดร.ชเนศวร์ กล่าว

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยว่าปี 66 มีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้ในปีนี้ราว 5,821 ล้านบาท, ปี 2567 ประมาณ 4,330 ล้านบาท และในปี 2568 ราว 173 ล้านบาท และคาดว่าบริษัทมีโอกาสที่จะได้รับงานโครงการใหม่ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาเติมพอร์ตในระยะ 1-2 เดือนนี้

สำหรับปี 66 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจ และความคึกคักในการลงทุนที่เกิดขึ้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมปีนี้จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีแนวโน้มการกลับมาลงทุนโครงการต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลบวกต่อธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรม

บริษัทมีแผนมุ่งเน้นการเข้ารับโครงการขนาดกลาง-ใหญ่ เช่น งานถนน, งานก่อสร้างสนามบิน เป็นต้น รวมถึงการขยายงานก่อสร้างประเภทใหม่ๆ อาทิ งานระบบชลประทาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานทดแทน และต่อยอดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องธุรกิจเดิม เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัท

Back to top button