กลุ่มไฟฟ้าไทยชิงเค้ก เวียดนามเปิดแผน PDP ใหม่ 1.50 แสนเมกฯ

เวียดนามเปิดแผน PDP ใหม่ปี 2573 จำนวน 150,489 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานน้ำ, ถ่านหิน, ก๊าซในประเทศ, โรงไฟฟ้า LNG-to-Power, พลังงานริมชายฝั่ง, พลังงานลมนอกชายฝั่ง, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานขยะ, พลังงานไฟฟ้าร่วม และอื่นๆ โดยขายไฟเยอะสุด ถ่านหิน 3 หมื่นเมกะวัตต์-พลังงานน้ำ 2.9 หมื่นเมกะวัตต์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประสงค์ให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อรับรองความมั่นคงด้านพลังงานของเวียดนาม และเพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอุตสาหกรรม และความทันสมัยของประเทศ คาดว่าการเติบโตของ GDP เฉลี่ย 7% ต่อปีนับตั้งแต่ 2564-2573 อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวไม่ได้มองข้ามเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศภายในปี 2593 กฎหมายการพัฒนาไฟฟ้ายังคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วย

สำหรับทางการรัฐบาลประเทศเวียดนามมีเป้าหมายในการไปใช้พลังงานหมุนเวียน จึงมีการร่างแผน PDP เวียดนาม (ฉบับที่ 8) ปี 2573 มีกำลังผลิตรวม 150,489 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ อย่าง พลังงานน้ำ มีกำลังผลิตจำนวน 29,346 เมกะวัตต์, พลังงานไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 30,127 เมกะวัตต์, ก๊าซภายในประเทศจำนวน 14,930 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้า LNG-to-Power จำนวน 22,400 เมกะวัตต์, พลังงานลมริมชายฝั่งจำนวน 21,880 เมกะวัตต์

ตามด้วยพลังงานลมนอกชายฝั่งจำนวน 6,000 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 20,591 เมกะวัตต์, พลังงานชีวมวลและพลังงานจากของเสีย (ขยะ) จำนวน 2,270 เมกะวัตต์, โรงงานไฟฟ้า Cogeneration และการนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่, แก๊สเตาหลอม, ผลพลอยได้ของกระบวนการเทคโนโลยี (พลังงานไฟฟ้าร่วม) จำนวน 2,700 เมกะวัตต์ และอื่นๆ จำนวน 325 เมกะวัตต์

ดังนั้นหากรัฐบาลเวียดนามเปิดประมูลขายไฟฟ้ารอบใหญ่ตามแผน PDP ฉบับที่ 8 ปี 2573 เชื่อว่าจะเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ชำนาญการอาจเข้าร่วมชิงเค้กด้วย เพราะก่อนหน้ามีหลายบริษัทไปดำเนินการพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้วอย่างเช่น BPP, GLUF, BGRIM, SSP, SUPER และ WHAUP เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการของไทยหลายราย ลงนามสัญญาศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า LNG to Power อาทิ BGRIM ที่ลงนามร่วมกับบริษัท เอนเนอร์ยี่ แคปปิตอล เวียดนาม (ECV) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งและพัฒนาธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท ซีเมนส์ เอนเนอร์ยี่ เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแบบ LNG-to-Power ขนาด 3,600 เมกะวัตต์ โดยจัดตั้งอยู่ที่ มุย เค กา (MKG) จังหวัดบินห์ทวน ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และใช้ก๊าซ LNG 3 ล้านตันต่อปี โดยโครงการจะนำสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซธรรมชาติแบบลอยน้ำ (FSRU) มาใช้ประโยชน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการลำเลียง LNG และจะเชื่อมต่อกับท่อส่งใต้ทะเลไปยังคอมเพล็กซ์ไฟฟ้าบนฝั่ง โดยเฟสแรก 1,800 เมกะวัตต์ ตามแผนเดิมจะเริ่มดำเนินการในปี 2568

นอกจากนี้ GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 GULF ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ร่วมกับสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 6 ล้านตันต่อปี ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลกาน้า อำเภอถ่วนน่าม จังหวัดนิ่งห์ถ่วน ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อปี 2561 GULF ได้เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ ก่อนที่จะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเวียดนามเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติฯ ในเดือนธันวาคม 2561 นำมาสู่การลงนามในครั้งนี้

ด้าน GPSC ระบุว่าไว้ก่อนหน้านี้ว่า GPSC มีแผนร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เพื่อร่วมยื่นประมูลแข่งขันโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้ารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

นอกจากนี้ในส่วนของความร่วมมือลงทุนกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น 1.เดินหน้าศึกษาความร่วมมือเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกลุ่มประเทศอาเซียนที่ระดับแรงดัน 500 kV และ 220 kV เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อระบบ แลกเปลี่ยนไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าได้เต็มที่ โดยใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรของประเทศ

2.การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับลาวด้วยสายส่ง 500kV และ 220kV เพื่อนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในลาวตามบันทึกความเข้าใจที่ลงนามระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ

3.รักษาการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านผ่านระดับแรงดัน 220 kV, 110 kV และแรงดันปานกลางที่มีอยู่ วิจัยและดำเนินการแก้ปัญหาสำหรับการประสานกันแบบอะซิงโครนัสระหว่างระบบไฟฟ้าโดยสถานีแปลง DC-AC ที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 220-500 kV

4.งานก่อสร้างเชื่อมโยงโครงการส่งออกไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสูงบนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงานและความมั่นคงในการป้องกันประเทศ

Back to top button