AMATA ท็อปพิก! อานิสงส์ “เวียดนาม” ลดดอกเบี้ย ดันสัดส่วนรายได้เพิ่ม

โบรกชี้เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ย มีผล 25 พ.ค.66 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโต ชู AMATA-CRC-WHA-CPF และ TOA เป็นหุ้น Best Picks คาดได้รับสัดส่วนรายได้ในเวียดนามสูง AMATA เด่นสุด มีสัดส่วนรายได้พุ่ง 33%


บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) หลังจากประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% นับเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเวียดนามเริ่มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 1/2566 ประเมินว่ามีโอกาสสูงในระยะถัดไปที่จะเห็น (SBV) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตในระดับใกล้เคียงกับในอดีต ทั้งนี้ เพื่อให้หุ้นที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเริ่มเข้าสู่วงจรนโยบายการเงินผ่อนคลายของเวียดนาม จะมีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงทำการรวบรวมหุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมที่มีฐานธุรกิจในเวียดนาม โดยสรุปบริษัทไทยที่มีรายได้หรือธุรกิจในเวียดนามหลักๆ เรียงจากมากไปน้อย ดังนี้

1) กลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ในเวียดนามที่มีนัยสำคัญ และอิงจากภาคบริโภคประเมินว่าจะมีโอกาสที่นโยบายการเงินผ่อนคลายของเวียดนามจะเปิดอัพไซด์ประมาณการระยะถัดไปเพิ่มเติมมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มนิคม มองหุ้น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA มีสัดส่วนรายได้ราว 33% ที่มาจากเวียดนามในปี 2565 โดยมีนิคมอุตสาหกรรมลองถั่น และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง รวมทั้งหุ้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA มีสัดส่วนรายได้ราว 15% ที่มาจากเวียดนาม

ขณะที่กลุ่มค้าปลีก มองว่าหุ้น บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC จะมีสัดส่วนรายได้ราว 24% เพราะมีธุรกิจ Hypermarket แบรนด์ BIGC และ GO อีกทั้งมีซุปเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ GO และ TOPS รวมถึงร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเหงียนคิม ส่วนหุ้นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC คาดว่ามีสัดส่วนรายได้ราว 8% มีธุรกิจบรรจุภัณฑ์และขายสินค้าอุปโภคบริโภค

สำหรับกลุ่มเกษตร มีเพียงหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่มีสัดส่วนรายได้ราว 20% เป็นผลมาจากธุรกิจหมู และไก่ครบวงจรตั้งแต่พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และเลี้ยงสัตว์ ส่วนอื่นที่อยู่นอกพื้นที่ครอบคลุม ได้แก่หุ้น บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG มีสัดส่วนรายได้ราว 3%

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบรรจุภัณฑ์ มองหุ้น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP มีสัดส่วนรายได้ราว 14.8% โดยมีทั้งโรงงานผลิตและการส่งออกไปขาย และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ประเมินหุ้น บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA มีสัดส่วนรายได้ราว 8-10% และมองหุ้น บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO จะมีสัดส่วนรายได้ราว 5%

ทั้งนี้ กลุ่มอื่นๆ ที่มีฐานธุรกิจในเวียดนาม ประเมินผลบวกทางพื้นฐานจำกัด และให้น้ำหนักเป็นจิตวิทยาบวก ได้แก่

2) กลุ่มที่มีฐานธุรกิจในเวียดนามในสัดส่วนมีนัยฯ ในเชิงโครงสร้างธุรกิจอาจได้รับประโยชน์จำกัด คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า ประเมินหุ้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM จะมีสัดส่วนรายได้ราว 5.9% ซึ่งรายได้จะมาจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ในเวียดนาม

ส่วนหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จะมีสัดส่วนรายได้ราว 0.6% โดยรวมโครงการเดิมเราประเมินผลบวกทางพื้นฐานจากโครงสร้างสัญญาการขายไฟ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนเป็นต้นทุนคงที่ไปแล้ว แต่หากมีการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ ก็จะคาดหวังอัพไซด์มีผลตอบแทนรายโครงการจากต้นทุนทางการเงินที่จะลดต่ำลงเพิ่มขึ้น ประเมินภาพรวมจะได้ประโยชน์เฉพาะโรงไฟฟ้าที่เปิดประมูลเฉพาะโครงการใหม่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

3) กลุ่มอื่นๆ ที่มีธุรกิจในเวียดนาม แต่ยังไม่เป็นระดับไม่มีนัยสำคัญคาดว่าน้อยกว่า 5% ของรายได้รวม อย่างกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มการเงิน มีสัดส่วนรายได้ไม่เกิน 1 % ของรายได้รวม นอกจากนั้นจะเป็นรายบริษัท อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC อยู่ที่ 4.1% ของรายได้รวม, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG อยู่ที่ 3% ของรายได้รวม, บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA อยู่ที่ 1% ของรายได้รวม และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO กับ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM อยู่ที่ 0.5% ของรายได้

สำหรับหุ้นบริษัทจดทะเบียนหลากหลายในไทยจะมีฐานรายได้และธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่มีระยะกลางยาว มีศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ด้วยอานิสงส์เชิงบวกของการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาลงในปัจจุบัน ประเมินน่าจะส่งผลต่อกลุ่มอิงภาคบริโภคและการลงทุนเป็นหลักที่อาจจะเห็น Upside Risk ประมาณการที่มีนัยสำคัญจากอานิสงส์ดังกล่าวได้ในระยะถัดไป

โดยในเชิงกลยุทธ์เกณฑ์ในการที่มีแนะนำลงทุนหุ้นไทยที่มีสัดส่วนรายได้ในเวียดนามสูง และเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินผ่อนคลาย อาทิ ภาคการบริโภคหรือลงทุน ขณะที่พื้นฐานภาพรวมปัจจุบันแข็งแกร่ง เชิงกลยุทธ์ ทำให้หุ้นที่ทางฝ่ายนักวิเคราะห์เลือกเป็น Best Picks จะประกอบด้วย AMATA, CRC, WHA, CPF, TOA

Back to top button