“พิธา” นำทีมพบ “หอการค้าไทย” หารือนโยบายเศรษฐกิจ

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำทีมพรรคก้าวไกล หลังเข้าประชุมปรึกษากับสภาหอการค้าไทย ปรึกษาพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ ห่วงเรื่องงบประมาณรายจ่าย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หวังอยากเห็นตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เผยถึงภายหลังการเข้าประชุมปรึกษากับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่ามีการปรึกษาพูดคุยประมาณ 13 ประเด็น ในเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน, EEC, การบริหารเศรษฐกิจ BCG, เศรษฐกิจชายแดน โดยเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา และอัปเดตกับภาคเอกชนผ่าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เรื่องความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการประสานงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านมีหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งครั้งหน้าจะมีคณะทำงานของที่มีตัวแทนของแต่ละพรรคมาร่วมพูดคุยในหลายประเด็นจากทั้งฝั่งภาคเอกชนและรัฐบาล เช่น ตัวเลขส่งออก, ตัวเลขเศรษฐกิจ และค่าเงินเฟ้อ

ทางด้าน นายสนั่น กล่าวว่า เป็นการพบปะกันที่สร้างสรรค์ รู้สึกสบายใจในเรื่องมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความชัดเจน แต่ยังมีหลายเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่าต้องประชุมกัน และมีการมอบหมาย contact person (ผู้ประสานงาน) ฝั่งหอการค้า คือ นายกฤษณะ วจีไกรลาศ เลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่วนพรรคก้าวไกลมอบหมาย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมมองว่าจุดนี้มีความชัดเจนมาก

ขณะเดียวกัน เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล มองว่าจะมีการอภิปรายกันมากพอสมควร ต่างฝ่ายมีข้อมูลที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก หอการค้าเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่จังหวะเวลาและอัตราในการขึ้นจะเป็นอย่างไร จะคุยกันอีกครั้ง

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ อยากเห็นการตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ซึ่งวันนี้ได้เห็นแล้วว่าไทม์ไลน์จะเป็นลักษณะอย่างไร น่าจะประมาณภายในเดือนกันยายน 2566 ถ้าเป็นไปได้ สำหรับเรื่องที่ห่วงที่สุดคืองบประมาณรายจ่าย การทำงบประมาณฐานศูนย์ ที่ห่วงคือถ้าทำในช่วงที่มีเวลาจำกัด จะทำให้งบประมาณเบิกจ่ายไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเรื่องงบประมาณจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องคนไทย

ด้าน นายพิธา กล่าวว่า ยังได้ตอบคำถามเรื่องช่วงเวลาในการตั้งรัฐบาลว่าขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ 95% เมื่อใด จากนั้นจึงจะมีกรอบกฎหมายอื่นๆ ตามมา ทั้งการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เลือกประธานสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ความชัดเจนในส่วนนี้ต้องรอ กกต. ขณะที่หอการค้าแสดงเจตจำนงมาว่าอยากให้สุญญากาศสั้นที่สุด เพื่อให้เริ่มทำงานในรัฐบาลชุดใหม่ได้

Back to top button