เปิดโผ “หุ้นได้-เสีย” ประโยชน์บาทอ่อน รอบ 7 เดือน

เปิดโผ “หุ้นได้-เสีย” บาทอ่อนค่า 35.60 บ./ดอลลาร์ ในรอบ 7 เดือน ฟากโบรกฯมองกลุ่มส่งออกรับประโยชน์ชูอาหาร-อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่กลุ่มรับผลกระทบนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้าจากต่างประเทศจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อมกลุ่มมีหนี้ต่างประเทศ


เห็นได้ว่าช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดวานนี้มาแตะระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ นับว่าอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนต่างประเทศเพื่อเปิดกว้างให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการและเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการโอนเงินตราต่างประเทศของบุคคลทั่วไป

พร้อมประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกมายังคงดูแข็งแกร่งจากยอดการซื้อสินค้าคงทนที่เพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และราคาบ้านในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ (30 มิ.ย.) นี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

สำหรับผลดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องได้อีก ซึ่งก่อนหน้าหากย้อนกลับไปดูค่าเงินบาทได้มีการอ่อนค่าไปแตะ 38.30 บาทต่อดอลลาร์ ณ (19 ต.ค. 65) ที่ผ่านมา โดยทำให้กลุ่มหุ้นส่งออกมีกำไรที่เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากด้วยอานิสงส์จากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น

โดยรอบนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อค่าเงินบาทอ่อนมาแตะ 35.60 บาทต่อดอลลาร์แล้วก็จะมีหุ้นกลุ่มส่งออกได้ประโยชน์ แต่ก็ยอมมีหุ้นกลุ่มนำเข้าเสียประโยชน์เช่นกันดูจากข้อมูลรวบรวมของนักวิเคราะห์

บริษัท หลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าในบทวิเคราะห์ (28 มิ.ย.66) สำหรับหุ้นกลุ่มส่งออกได้อานิสงส์เชิงบวกจากแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า กอปรกับคาดว่าครึ่งหลังของปี 2566 มูลค่าการส่งออกจะเติบโตดีกว่าครึ่งแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตามยังคงชอบหุ้น  AH, HANA และ KCE

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (28 มิ.ย.66) กล่าวถึงในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่ส่งออกฟื้น และเงินบาทอ่อนค่า โดยเน้นลงทุนในหุ้น KCE, HANA

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (27 มิ.ย.66) สำหรับกลุ่มหลักทรัพย์ที่เป็นกลุ่มส่งออกที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น กลุ่มอาหาร ได้แก่  CPF, TU, TFG, SUN, GFPT และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ DELTA, KCE และ HANA

ส่วนกลุ่มได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก คือกลุ่มที่หุ้นนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น TVO, IT, COM7, JMART, SPVI, SIS, CPW และกลุ่มมีหนี้ต่างประเทศจะบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสูง เช่น BGRIM, GPSC, GULF, WHAUP, AMATA, WHA, BA และ AAV

Back to top button