WTI ปิดบวก 78 เซนต์ สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวหนุนตลาด

น้ำมัน WTI ปิดบวก 78 เซนต์ สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวหนุนตลาด และนักลงทุนสนใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ปิดที่ 70.64 ดอลลาร์/บาร์เรล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (30 มิ.ย.66) โดยได้แรงหนุนจากการที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงในสหรัฐ และนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 78 เซนต์ หรือ 1.12% ปิดที่ 70.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 56 เซนต์ หรือ 0.75% ปิดที่ 74.90  ดอลลาร์/บาร์เรล

ในรอบเดือนมิ.ย. สัญญาน้ำมันดิบ WTI และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 3.8% และ 3.1% ตามลำดับ แต่ในรอบไตรมาส 2 นั้น ราคาลดลง 6.7% และ 6.1% ตามลำดับ

โดยตลาดน้ำมันได้แรงหนุน หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.3% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.

ด้านดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่บ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.4 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.9 จากระดับ 59.2 ในเดือนพ.ค.

สัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดแสดงความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปก็ตาม

นายวลาดิมีร์ เซอร์นอฟ นักวิเคราะห์ของเอฟเอ็กซ์ เอ็มไพร์ ซึ่งเป็นบริษัทให้ข้อมูลตลาดเปิดเผยว่า ตลาดน้ำมันปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

นายเซอร์นอฟระบุด้วยว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์ได้ช่วยหนุนตลาดน้ำมันด้วย โดยดอลลาร์ที่อ่อนค่าทำให้สัญญาน้ำมันดิบที่กำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์นั้นมีราคาถูกลง และน่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น ๆ

โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.42% สู่ระดับ 102.9125

Back to top button