เปิดโผ 38 หุ้น “ได้-เสีย” รับรัฐบาลใหม่ “เศรษฐา” นั่งนายกฯ

เปิดโผ 38 หุ้น “ได้ประโยชน์-เสีย” หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียง ส่งผลให้หุ้นบางตัวได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ พร้อมขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการลงทุนของเอกชนและต่างชาติมากขึ้น


บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มติร่วมรัฐสภา “เศรษฐา” นั่งนายกฯ คนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียง มติที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบการแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน เห็นชอบ 482 เสียง, ไม่เห็นชอบ 165 เสียง, งดออกเสียง 81 เสียง

ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย จากความคืบหน้าทางการเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการบริโภค รวมถึงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการลงทุนของเอกชนและต่างชาติมากขึ้น

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะมีโอกาส outperform SET มากสุด (คิดจากผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลใหม่ และ price performance ในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นหลัก) ดังนี้

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ประเมินวงเงินสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 25,000 บาท จากเดิม 15,000 บาท โดยปัจจุบันลูกหนี้ส่วนใหญ่จะมีเงินเดือนเฉลี่ยใกล้เคียงเงินเดือนขั้นต่ำ โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 40 บาท

บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ประเมินวงเงินสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ ซึ่งรายได้ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 15,000 บาท โดยแนะนำถือราคาเป้าหมาย 185 บาท

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ยังคงชอบมากกว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จากมี upside จากรถไฟสายสีส้ม และกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรงน้อยกว่า รวมทั้ง laggard กว่า STEC โดย STEC outperform CK เพิ่มขึ้น 16% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว คาดมีการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ ทำให้กลุ่ม FMCG เพิ่มงบโฆษณา อีกทั้งยังมีรายได้จากธุรกิจอื่น อาทิ events, บริหารศิลปิน ซึ่งมองว่าจะขยายตัวตามรายได้ผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 6 บาท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมีโอกาสขอปรับเพิ่ม PSC โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 84 บาท

 สำหรับ Sector หุ้นที่เป็นบวกและจะ Outperform SET ดังนี้

1) กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ (CPAXT, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO คาดกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก นโยบายกระเป๋าเงินดิจิตอล 10,000 บาท อีกทั้งค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าพลังงานลด และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีสินค้าวัสดุก่อสร้าง บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME และ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL คาดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ลดภาระหนี้เกษตรกร งานภาครัฐ เอกชนกลับมา

2) กลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ (AEONTS, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC มองสินเชื่อจะกลับมาเร่งตัว และ NPL ทยอยลดลง จากมาตรการ Digital Wallet และการเพิ่มค่าแรงหนุนต่อกำลังซื้อสูงขึ้น

3) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ (CK, STEC, บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO, บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON จากแนวโน้มโครงการลงทุนขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่มาตรการทยอยปรับขึ้นค่าแรง มองว่าสามารถบริหารจัดการได้

4) กลุ่มสื่อ ได้แก่ ONEE, บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC, บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB คาดรัฐบาลจะออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย เม็ดเงินโฆษณาฟื้นตัว และกลุ่ม FMCG ใช้งบโฆษณาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

5) กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ AOT, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ได้ประโยชน์จากนโยบายดันไทยเป็น “Festival Hub of Asia” ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น และ AOT มีโอกาสขอปรับเพิ่ม PSC และ AAV รัฐบาลชุดใหม่จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือสายการบิน เช่น ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน

6) กลุ่มธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยมองว่า BBL ได้ประโยชน์จากสินเชื่อรายใหญ่กลับมาหลังจากจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ

ส่วน SCB, KBANK ได้ประโยชน์จากสินเชื่อกลุ่มท่องเที่ยวและ SME ที่จะฟื้นตัวได้ดี

7) กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้อานิสงส์จากการทำให้ไทยเป็น wellness destination ทำให้คนต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

8) กลุ่มขนส่งภาคพื้นดิน ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ประโยชน์จากมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะมี subsidy ซึ่งจะช่วยเพิ่ม ridership

9) กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จะได้ประโยชน์จากนโยบายเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นรถไฟฟ้า

10) กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP คาดความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในกลุ่ม blue collar จากกิจกรรมรับเหมาที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้มีมุมมองหุ้นที่เป็นลบและยัง underperform SET ได้แก่

1) กลุ่มไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF หากการปรับลดค่าไฟมีมากกว่าต้นทุนพลังงานที่ลดลงจะกระทบอัตราการทำกำไร

2) กลุ่มสถานีบริการน้ำมัน ได้แก่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR การลดราคาน้ำมันมีความเสี่ยงที่จะกระทบค่าการตลาด

Back to top button