“ม.หอการค้า” ชี้นโยบาย “เงินดิจิทัล” กระตุ้นศก. ดันจีดีพีปี 67 โต 5-7%

ม.หอการค้า ชี้ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 5-7%


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ เพราะเป็นนโยบายที่ออกจากปากนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้สังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพูดว่าใครพูดอะไรแล้วต้องทำ เชื่อว่านโยบายนี้สามารถทำได้ และมีเงินเพียงพอ แต่รัฐบาลอาจจะไปตัดบางโครงการที่ไม่จำเป็นออก และทำงบประมาณแบบขาดดุลแทน เพราะงบประมาณปี 67 สำนักงบประมาณได้กำหนดกรอบไว้ 3.35 ล้านล้านบาท

ขณะที่เรื่องหนี้สาธารณะนั้นมองว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะสำนักงบประมาณ มีการวางกรอบการขาดดุลไว้ไม่เกิน 4% ซึ่งจากสถานะทางการเงินตอนนี้อาจจะขาดดุลงบเพิ่มได้อีกเล็กน้อย ไม่สูงเกินไป โดยขณะนี้เพดานหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 60% แต่สามารถขยายได้ 70%

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ซึ่งส่วนนี้ไม่เพียงจะทำให้ได้เงินเพิ่ม 30,000-35,000 ล้านบาท แต่ยังจะได้ภาษีบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มในปีถัดไป

สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณรวม 560,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท ส่วนวิธีการใช้รัฐบาลอาจจะแบ่งเป็นเฟส เช่น เฟสละ 3,000 บาท เพื่อกระจายให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในการซื้อสินค้าไทย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายในประเทศไทยจะทำให้เงินหมุนหลายรอบ หากไม่กำหนดก็เสี่ยงจะรั่วไหลออกไปกับสินค้าต่างประเทศได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 5-7% เนื่องจากจะเริ่มใช้งบประมาณได้ในเดือน เม.ย. 67 หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะแรกตั้งแต่ต้นปี 67 จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ขณะที่ภาคการส่งออก ปี 67 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-5% ส่วนปี 66 คาดจะติดลบ 2-3% จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกระทบการส่งออกปีนี้ แต่ปีหน้าจะดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ปีนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงจะเริ่มไปกระทบในปีหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าภาคเกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้นใน ไตรมาส 4 ถึง ปี 67 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในและนอกสภา ไม่รุนแรง ซึ่งถ้าหากมีการชุมนุมจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

X
Back to top button