โบรกมองราคา “เนื้อสัตว์” ฟื้น ชู CPF ท็อปพิก!

โบรกมองราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัว ชู CPF ท็อปพิก! อานิสงส์ราคาหมูต่างประเทศขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “จีน-เวียดนาม” หนุนกำไรครึ่งปีหลังเติบโตแกร่ง พร้อมขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 25 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเนื้อสัตว์มีความหลากหลาย ท่ามกลางราคาหมูฟื้นตัวขึ้น 6% เป็น 69.5 บาทต่อกิโลกรัมจากการที่เกษตรกรร่วมมือกันรักษาเสถียรภาพของราคา สวนทางกับราคาไก่ที่ลดลง 6% มาอยู่ที่ 37.0 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากอุปสงค์ไก่ภายในประเทศ และการส่งออกอ่อนตัว

ขณะที่ราคาหมูในประเทศจีนต่ำลงเล็กน้อยอยู่ที่ CNY17.2 ต่อกิโลกรัม หลังจากราคาพุ่งขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของการแทรกแซงราคาจากภาครัฐ สำหรับด้านต้นทุนอาหารสัตว์ ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 3% เป็น 11.9 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคากากถั่วเหลืองโลกสูงขึ้น 7% อยู่ที่ US$415/ton ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ

ส่วนในรายงานเดือนสิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาอัพเดตสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะเอลนีโญ ว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงวันที่ 16 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2566 สูงกว่าระดับปกติ 0.9-3.3 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ กรมอุตุฯ ยังคาดภาวะเอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ก่อนที่จะอ่อนกำลังลงและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2567

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2566 การส่งออกไก่ลดลง 11% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนในเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งการส่งออกไก่ไทยเดือนกรกฎาคมเสียหลักไป โดยลดลง 11% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และ 3% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท ถูกกดดันจากการส่งออกไก่แปรรูปเป็นหลักโดยลดลง 13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศหลักๆ หลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปอียู ลดลง 38%

ขณะที่การส่งออกไก่แช่แข็งลดลง 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท โดยหลักๆ เกิดจากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน 22% และ ญี่ปุ่นลดลง 6% แต่ในแง่บวก การส่งออกไก่แช่แข็งไปยังอาเซียนยังขยายตัวโดดเด่นที่ 31% และเกาหลีขยายตัว 64%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงของภาวะเอลนีโญได้เพิ่มความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนว่าจะยาวนานกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ขณะที่มีมุมมองระมัดระวังมากขึ้นต่อประมาณการกำไรของบริษัทในปี 2567 โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้วัตถุดิบด้านการเกษตรเป็นหลัก อย่างเช่น ซันสวีท โดยราคาหุ้น SUN ถึงแม้จะประเมินผลการดำเนินงานแข็งแกร่งในไตรมาส 3/2566 ก็ตาม ส่วนผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ยังคงเลือก CPF เป็นหุ้นเด่นสุดในกลุ่ม เพราะคาดพัฒนาการด้านกำไรดีขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ในครึ่งหลังของปี 2566 ได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของราคาหมูในต่างประเทศ

บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN มองบวกกับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 เนื่องจากเป็นช่วง high season ของการส่งออก รวมถึง ยอดขายสินค้า RTE น่าจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทจากการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นจากเมื่อปลายไตรมาส 2/2566 ที่ 35.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น จึงคาดว่ากำไรของ SUN น่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 3/2566 และยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 เอาไว้เท่าเดิมที่ 378 ล้านบาท โดยยังคงคำแนะ “ซื้อ” คงราคาเป้าหมายปี 2566ไว้ที่ 7.60 บาท

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF คาดว่าผลประกอบการของ CPF น่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกในครึ่งหลังของปี 2566 เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง ขณะที่ราคาหมูในประเทศจีน และเวียดนามสูงขึ้น คาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจค้าปลีกจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนผลประกอบการของ CPF ในครึ่งหลังของปี 2566-2567

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2566 อ่อนแอ และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศไทยลดลง จึงปรับลดประมาณการปี 2566 เป็นขาดทุนสุทธิ 939 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 7.71 พันล้านบาท โดยผลขาดทุนจะมาจาก GPM ที่อ่อนแอที่ 11.2% ลดลงจากสมมติฐานเดิมที่ 12.8%

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อ CPF เพราะคาดว่าผลประกอบการของ CPF ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 25.00 บาท

Back to top button