BA อัพรายได้ปีนี้ทะลุ 1.6 หมื่นล้าน เป้า “คอนเซนซัส” 18.02 บาท

BA ปรับเป้ารายได้ปีนี้ทะลุ 1.6 หมื่นล้านบาท ครึ่งปีหลังเปิดเส้นทางใหม่ “ดอนเมือง-สมุย” ต.ค.นี้ “สมุย-ฉงชิ่ง” และ “สมุย-เฉิงตู” ช่วงพ.ย. ดันตัวเลขผู้โดยสารปีนี้พุ่ง 4.4 ล้านคน ราคา Consensus ให้เป้าหมาย 18.02 บาท


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า ล่าสุด BA ได้ปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2566 ใหม่ โดยเพิ่มเป้ารายได้เป็น 16,000 ล้านบาท จากเป้าเดิม 15,000 ล้านบาท และมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load factor) เฉลี่ยเพิ่มเป็น 78% จากเป้าเดิม 76% ปรับราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพิ่มเป็น 3,700 บาทต่อที่นั่ง จากเป้าเดิม 3,400 บาทต่อที่นั่ง เนื่องจากความต้องการเดินทางสูงส่งผลให้ราคาตั๋วโดยสารสูงขึ้น และประเมินว่าทั้งปีนี้ BA จะขนส่งผู้โดยสารกว่า 4.4 ล้านคน

“ภาพรวมการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีมีสายการบินเข้าไทยมากขึ้น สายการบินเดิมก็ปรับเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น แม้บางสายการบินจะกลับมาไม่ถึง 100% แต่ Load Factor เข้ามาสูงขึ้น เช่น สายการบินแถบตะวันออกกลาง และในครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นอีก ส่งให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก รายได้ผู้โดยสาร Load Factor คาดไม่ต่ำกว่า 80% ราคาตั๋วน่าจะยืนอยู่ในระดับสูงได้” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่มีการปรับเพิ่มเป้าหมายผลการดำเนินงานดังกล่าว เนื่องจากผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย. 2566) สูงกว่าที่เคยประมาณการไว้มาก โดยมีกำไรสุทธิ 1,544.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,867.5 ล้านบาท มีรายได้รวม 10,704.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156% มีผู้โดยสารที่ 2.02 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้โดยสาร 9 แสนคน มี Load Factor เฉลี่ยสูง 81.4% จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 71.6% หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยุติลง นักท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวเร็วอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน มั่นใจว่าผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังนี้ (ก.ค.-ธ.ค. 2566) จะเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกแน่นอน เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ธุรกิจการบินและนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว พอถึงช่วงครึ่งปีหลังก็จะเป็นช่วงที่การเดินทางแข็งแกร่งเต็มที่ โดยปี 2567 บริษัทมีแผนขยายฝูงบิน โดยจะทยอยเพิ่มจำนวนเครื่องบิน

โดย BA จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 2 ลำ ในต้นปี 2567 และวางแผนในช่วง 3-5 ปี จะเพิ่มฝูงบินเป็นกว่า 30 ลำ จากก่อนโควิด บริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 40 ลำ โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 26 ลำ แบ่งเป็น เครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A319 จำวน 13 ลำ และเครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ โดยนำมาใช้บิน 20-21 ลำ ส่วนที่เหลือรอซ่อมบำรุง

สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะดึงตารางการบิน (Slot) จากกองทัพอากาศมาให้เอกชนใช้นั้น นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่า Slot ที่ได้มาตรงกับความต้องการหรือไม่ เพราะถ้าได้ช่วงเวลาที่ไม่ได้ต้องการก็ไม่ช่วยอะไร เห็นว่าต้องการเพิ่ม Slot ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีดีมานด์จะเป็นประโยชน์

นอกจากนี้ BA ยังได้กลับมาเปิดบริการเส้นทางบินเพิ่มเติม คือ กรุงเทพ-มัลดีฟส์ ซึ่งได้เริ่มให้บริการไปแล้วตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ล่าสุด คือ ลำปาง-แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา และเตรียมเปิดอีก 1 เส้นทางบินใหม่สู่เกาะสมุย ได้แก่ กรุงเทพ (ดอนเมือง)-สมุย เริ่มบินวันที่ 29 ตุลาคม 2566 พร้อมทั้งกลับไปบินเส้นทางสู่จีน 2 เส้นทาง คือ สมุย-ฉงชิ่ง และ สมุย-เฉิงตู อยู่ระหว่างการขออนุมัติทำการบินจากรัฐบาลจีน คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยมีแผนจะเปิดฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ที่ถือเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น

นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการล้างขาดทุนสะสมของ BA ที่จะเสนอประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อขออนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 210 ล้านบาท และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวน 9,218.84 ล้านบาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมที่ปัจจุบันมีอยู่ 13,720 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ BA มีขาดทุนสะสมลดลงเหลือประมาณ 4,291 ล้านบาท ว่า สืบเนื่องจากผลประกอบการปี 2566 จะฟื้นตัวดีมาก และมีกำไรสุทธิแน่นอน ขณะที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผลประกอบการของ BA มีขาดทุนสะสมจำนวนมาก เมื่อผลประกอบการดีขึ้น BA จึงต้องการล้างขาดทุนสะสมให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัท และเมื่อผลประกอบการเติบโตมั่นคงแล้วก็จะเริ่มปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ทันที

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี เปิดเผยถึงการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT) ว่า ในช่วง 2 ปีจากนี้ BA มีแผนนำทรัพย์สินสนามบินสมุยส่วนที่เหลือเพิ่มเข้าใน BAREIT

โดยต้องดูความต้องการใช้เงินในช่วงเวลานั้น และความแข็งแกร่งด้านการดำเนินงานของสนามบินสมุยส่วนที่เหลือดังกล่าว เพื่อที่ว่าเมื่อนำเข้า BAREIT จะสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่แจ้งแก่นักลงทุน โดยปัจจุบัน BAREIT มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปรายได้จะเติบโตประมาณ 2% ต่อปี

ขณะเดียวกัน BA ยังมีแผนนำสนามบินของ BA อีก 2 แห่ง คือ สุโขทัย และตราด เพิ่มเข้ามาใน BAREIT ด้วย แต่คงไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดย BA ไม่มีแผนจัดตั้งกอง REIT เพิ่มเติม เพราะ BAREIT สามารถขยายการลงทุนเพิ่มได้อย่างต่อเนื่องจากสนามบินที่ BA เป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังสนใจลงทุนสนามบินใน จ.พังงา เพราะเห็นว่าสนามบินภูเก็ตในปัจจุบันมีความแออัดมากและเที่ยวบินมีจำนวนมาก แต่ก็ต้องรอดูว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะลงทุนสนามบินใหม่หรือไม่

ด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอความพร้อมในหลายขั้นตอน เช่น การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ซึ่งกองทัพเรือยังไม่เปิดประกวดราคา/ การเริ่มงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันอก (สกพอ.)/ ผู้รับงานโครงการเมืองการบินฯ และผู้รับงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเบื้องต้นประเมินว่าฝ่ายรัฐจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ได้ช่วงต้นปี 2567 ซึ่งเฟส 1 (รองรับที่ 12 ล้านคนต่อปี) ต้องใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท โดย BA ใช้เงินทุนบริษัท 30% และกู้สถาบันการเงิน 70%

รายงานข้อมูลจาก Refenitiv Consensus ประมาณการรายได้ปี 2566 ของ BA ที่ 18,785.49 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,444.03 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 18.02 บาท (จาก 4 โบรกเกอร์)

Back to top button