คัด 4 หุ้นค้าปลีก รับประโยชน์ “ครม.” เคาะพักหนี้เกษตรกร

เปิด 4 หุ้นกลุ่มค้าปลีกที่อิงเกษตรกรได้ประโยชน์ ครม.เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 - 30 ก.ย.67 ให้กับเกษตรกรรายย่อย 2.7 ล้านราย ตั้งเป้า 3 ปี เกษตรกรแข็งแกร่งขึ้น เล็ง ช่วยพี่น้องเกษตรกร


จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567  เป็นเวลา 1 ปี ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. ฉบับที่ 44 และ 45 ทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และหรือเป็นหนี้คงค้างชำระจำนวน 2.7 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท

ทั้งนี้ วิธีดำเนินโครงการเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-31 มกราคม 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ประมาณ 3 แสนราย และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

ด้าน บล.พาย ระบุว่า จากประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติพักหนี้เกษตรกร 3 ปี โดยทางรัฐบาลประเมินว่ามาตรการพักชำระหนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับเกษตรกรและมีรายได้เหลือเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน มองกลุ่มค้าปลีกที่อิงเกษตรกรได้ประโยชน์ ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME และ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL

ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ คาดว่ากำไรของ BJC ในครึ่งปีหลัง 2566 จะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เนื่องจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบิ๊กซีซึ่งไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซัน ประกอบกับต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าการบริโภคในประเทศจะยังอ่อนแอ แต่สาขาเดิม (SSSG) จากไตรมาสก่อนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นบวกเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่แข็งแกร่งของบิ๊กซี 25 สาขาซึ่งเน้นนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีการปรับสาขา 35 สาขาให้เป็นสาขาที่เน้นนักท่องเที่ยวด้วยการเปลี่ยนรูปแบบร้านและปรับประเภทสินค้า ส่งผลให้สาขาที่เน้นนักท่องเที่ยวรวมเป็น 60 สาขาหรือ 30% ของบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตโดยรวม

นอกจากนี้คาดว่ากำไรปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยคาดว่าการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการที่บิ๊กซีมีสาขากว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศไทยจึงคาดว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้อานิสงส์จากโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาส 1-2/2567 พร้อมยังเชื่อว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค (บรรจุภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค) ของ BJC จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ให้ราคาเป้าหมาย 42 บาท

Back to top button