SSF ทำหุ้นไทย “เสียโอกาส” ปีละ 1 หมื่นล้าน

SSF ทำตลาดหุ้น “เสียโอกาส” เม็ดเงินไหลเข้าเดือนธ.ค.ในทุกปีไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท ฟากกระตุ้นการออมก็ไม่สัมฤทธิ์ผลมาก เพราะจะต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันซื้อ ขณะที่ในยุค LTF เม็ดเงินไหลเข้าตลาดเคยสูงถึง 2-3 หมื่นล้านบาท


นับจากสิ้นสุดกองทุนรวมระยะยาว (Long Term Equity Fund) หรือ LTF ก็ได้มีกองทุนใหม่เข้ามาแทนที่คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Fund) หรือ SSF ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเสียโอกาสไปไม่น้อย ทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพราะในช่วงสมัยยุคของกองทุนรวม LTF มีเม็ดเงินเข้ามาถึง 20,000-30,000 ล้านบาท แต่มาถึงยุคกองทุนรวม SSF เม็ดเงินเหือดแห้งเหลือไม่ถึง 20,000 ล้านบาท ดังนั้นในเชิงกระตุ้นการออมดูจะไม่สัมฤทธิ์เท่าที่ควร

ทั้งนี้หากเป็นไปตามแผน ภายในเดือนตุลาคมนี้ ผู้บริหารจากฟากฝั่งตลาดทุน นำทีมโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) พร้อมด้วยสมาชิกอีก 7 องค์กร อาทิ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) หรือสมาคมบลจ., สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO), สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA), สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) จะขอเข้าพบ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับเป้าหมายของผู้บริหารจากฟากฝั่งตลาดทุนพร้อมด้วยสมาชิกอีก 7 องค์กร ไปเข้าพบนายกครั้งนี้ เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาตลาดทุน ตลอดจนการเพิ่มบทลงโทษ และดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบผู้กระทำผิดในตลาดหุ้น

นอกจากนี้ อีกข้อเสนอที่น่าจับตามองก็คือ การเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการออมขึ้นมาใหม่ อาจเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้แตกต่างจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่กำลังจะหมดอายุลง

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ากองทุน SSF ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเชิงกระตุ้นการออมและการลงทุนของภาคประชาชนมากนัก

อีกทั้งเห็นได้จากเม็ดเงินจากกองทุน SSF ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหลายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) จากกองทุนประเภทนี้ไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับกองทุนรวมระยะยาว (LTF) ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการออมและการลงทุนของภาคประชาชน ที่สิ้นสุดระยะเวลาได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้วตั้งแต่ปี 2562

ในทางหลักการ SSF เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อการออมที่มาแทนที่กองทุน LTF จะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า เพราะสามารถลงทุนได้ในหลาย ๆ สินทรัพย์ ทั้งในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศฯลฯ จึงสามารถช่วยกระจายความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนจะมีตัวเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น

SSF ขยายเพดานเปิดโอกาสให้ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นักลงทุนที่ซื้อกองทุน SSF นี้ สามารถหักภาษีได้ปีต่อปีนับตั้งแต่ปี 2563-2567

ส่วนความเป็นจริงในทางปฏิบัติกองทุน SSF กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร สาเหตุเนื่องจาก SSF จะต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันซื้อ โดยนับแบบวันชนวัน เพราะภาครัฐต้องการให้เน้นการออมแบบระยะยาว และต้องการให้ประชาชนเก็บเงินส่วนนี้ไว้ใช้หลังเกษียณ รวมทั้งเพดานที่กำหนดไม่เกิน 2 แสนบาทนี้ ถือเป็นเพดานที่ต่ำ

ขณะที่ เมื่อเปรียบเทียบกับ LTF จะเห็นว่าประชาชนสนใจลงทุนในกองทุนลักษณะนี้มากกว่า ทั้ง ๆ ที่เน้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทยเท่านั้น การซื้อกองทุน LTF นี้ จะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และมีเพดานไม่เกิน 5 แสนบาท

คำตอบสำคัญซึ่งเป็นข้อแตกต่างและเป็นแรงจูงใจให้เกิดความนิยมใน LTF อยู่ที่ระยะเวลาในการถือครองกองทุนจะสั้นเพียง 7 ปีปฏิทิน โดยนับเป็นปี ๆ แม้ว่าจะซื้อกองทุน LTF ช่วงท้าย ๆ ของปีนั้น ๆ ก็ตาม

ปัจจุบันหากยังต้องการลงทุนในกองทุน LTF ที่มีการจัดตั้งไว้เดิม ก็ยังสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว เพราะปีสุดท้ายที่เปิดให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือปี 2562

อย่างไรก็ตาม ทั้ง SSF และ LTF มีเงื่อนไขที่เป็นข้อเหมือน คือ จะไม่มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการซื้อ และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี

ช่วงที่มีการจัดตั้งกองทุน SSF ขึ้นมาแทนที่กองทุน LTF ใหม่ ๆ มีการประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนผ่านบลจ.จากกองทุนนี้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี จากปกติจะมีเม็ดเงินลงทุน LTF เฉลี่ยอยู่ที่ 34,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะกองทุนประหยัดภาษีไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินให้ไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปีได้

สำหรับในอดีตช่วงโค้งสุดท้ายของปี มักจะเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF เข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยเสมอ สะท้อนจากสถิติช่วงเดือนธันวาคมปี 2555-2562 มักเป็นเดือนที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ

โดยข้อมูลเดือนธันวาคม 2559 มีเม็ดเงินไหลเข้า 22,223 ล้านบาท  เดือนธันวาคม 2560 มีเงินไหลเข้า 26,698 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2561 มีเงินไหลเข้า 22,262 ล้านบาท และเดือนธันวาคม 2562 เงินไหลเข้า 25,335 ล้านบาท

ทว่าช่วงเดือนธันวาคม 2 ปีที่แล้ว เริ่มเห็นการขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันราว 18,000 ล้านบาท ในปี 2563 และ 8,600 ล้านบาท ในปี 2564 โดยเฉลี่ยจึงถือว่าเดือนธันวาคมของช่วงเวลานั้นจะมีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ราว 20,000-30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีสถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเป็นกองทุน SSF เนื่องจากเหลือเม็ดเงินการไหลเข้าเดือนธันวาคมปี 2563 และปี 2564 ไม่ถึง 2 พันล้านบาทต่อเดือน เท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากข้อจํากัดสิทธิในการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF ที่มีมากกว่า LTF

X
Back to top button