“บล.โกลเบล็ก” แนะ 11 หุ้นเด่น รับ “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย-ฟรีวีซ่าดันเศรษฐกิจฟื้น

“บล.โกลเบล็ก” มองกรอบดัชนีที่ 1,440-1,500 จุด แนะลงทุนหุ้น BBL-KBANK-SCB-KTB-TISCO-AOT-CENTEL-ERW-SPA-RP-AU รับกนง.ขึ้นดอกเบี้ย-ฟรีวีซ่าหนุนเศรษฐกิจฟื้น


นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย สัปดาห์นี้รีบาวด์ (Rebound) ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากการที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ การผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราวช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ มีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 17 พ.ย.66 แต่อย่างไรก็ตามยังมีความผันผวนจากหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA คาดกรอบดัชนีที่ 1,440-1,500 จุด

ขณะเดียวกันนโยบายฟรีวีซ่าที่เริ่มมีการใช้ในช่วงเริ่มต้น “สัปดาห์ทอง” (Golden Week) ของจีนซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน และสัปดาห์ทองในปีนี้ยังตรงกับเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ทำให้จีนมีวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.-8 ต.ค. และยังเป็นวันหยุดยาวครั้งแรกที่ชาวจีนสามารถเดินทางได้อย่างอิสระเสรีหลังผ่านพ้นช่วงบังคับใช้มาตรการจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุนทางตรง (FDI) ในระยะยาวในการผลิตรถ EV ในประเทศไทยจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) ซึ่งเป็นหน่วยความเข้มข้นทางเทคนิคของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายใต้คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารสินทรัพย์ของรัฐของสภาแห่งรัฐของจีน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบกดดัน ตลาดหุ้นไทย อาทิ ธนาคารโลก ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยสำหรับปีนี้เหลือ 3.4% จากเดิม 3.9% รวมทั้งลดคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือ 3.5% จากเดิม 3.6% จากความกังวลเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงประมาณ 80% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค และการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีซึ่งเป็นตัวแทนอัตราผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง กดดันการประเมินมูลค่า ตลาดหุ้นไทย โดยช่วง 9 เดือนแรกปี 66 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1.57 แสนล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนประเภทอื่นที่ซื้อสุทธิ

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในวันนี้ 3 ต.ค. การประชุม ครม. และสภาผู้ส่งออกแถลงสถานการณ์การส่งออก วันที่ 4 ต.ค. ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) วันที่ 5 ต.ค. กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า (เงินเฟ้อ) พร้อมจับตาหุ้นกลุ่มธนาคารทยอยส่งงบการเงินงวดไตรมาส 3/66 ตั้งแต่กลางเดือนต.ค.

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ อาทิ วันนี้ 3 ต.ค. สหรัฐฯ รายงานตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนส.ค. วันที่ 4 ต.ค. อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ย. ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค. สหรัฐฯ รายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ย. ดัชนีภาคบริการเดือนก.ย. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 5 ต.ค. สหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ วันที่ 6 ต.ค. สหรัฐฯ รายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.

ดังนั้น จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นสถาบันการเงิน หลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสนับสนุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, KTB และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO

รวมทั้งหุ้นที่ได้รับประโยชน์นโยบายฟรีวีซ่า ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA, บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP และ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU

ด้านทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำสัปดาห์นี้แนะนำติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยอดจ้างงานภาคเอกชน ยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานหากปรับตัวดีขึ้นจะสนับสนุนให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด คงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป

อีกทั้ง ฝ่ายวิจัยประเมินราคาทองคำในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวไซด์เวย์ (Sideway Down) ในกรอบ 1,850-1,875 เหรียญ/ออนซ์ เนื่องจากยังถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี ที่ 4.59% อีกทั้งความกังวลว่า เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย. เป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในระยะกลาง

Back to top button