MORE มหกรรมปล้นโบรกเกอร์กลางแดด.!

MORE มหกรรมปล้นโบรกเกอร์กลางแดด.! โบรกเกอร์ต้องเผชิญความเสียหายจากวิกฤตการณ์ถูกปล้นเงินหลักหลายพันล้านบาทจากการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นอร์นั้นเอง


ในช่วงปลายปี 2565 คาบเกี่ยวต้นปี 2566 บริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ ไม่น้อยกว่า 10 ราย ถูกปล้นเงินกลางแดดครั้งใหญ่สุดที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย รวมมูลค่าความเสียหายจากทั้งฝั่งขาซื้อและขาขายสูงถึงเกือบ 5,000 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยได้รับความเสียหายจากราคาหุ้นผันผวนรุนแรง

สำหรับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เมื่อพบความผิดปกติของปริมาณการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE จำนวนมากถึง 1,500 ล้านหุ้น ซึ่งตั้งคำสั่ง (ออเดอร์) เข้ามาช่วงก่อนเปิดตลาด (At the Open : ATO)

คำสั่งซื้อนี้มาจากผู้ซื้อเพียงรายเดียว ผ่านโบรกเกอร์หลายรายที่ราคา 2.90 บาท ส่วนคำสั่งขายมาจากผู้ขายหลายรายในหลายระดับราคา แต่ใกล้เคียงกับระดับราคาเสนอซื้อ

การปล้นโบรกเกอร์ครั้งนี้ใช้เวลาไม่นานเพียง 20 นาที นับตั้งแต่ตลาดเปิดทำการซื้อขาย  โดยออเดอร์ที่ล้นทะลักผลักดันให้ราคาหุ้น MORE กระโดดขึ้นไป 4.3% สู่ระดับ 2.90 บาท จากนั้นดิ่งลงติดฟลอร์ (Floor) 30% และปิดตลาด 1.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งวันสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 7,142 ล้านบาท ขณะที่ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ วอแรนต์ (Warrant)  MORE-W2 ร่วงเหลือ 0.01 บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาแปลงสภาพ สูงถึง 2.00 บาททีเดียว

อาการทิ้งดิ่งของราคาหุ้น MORE และ MORE-W2 เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดในวงกว้างว่ามีนักลงทุนรายใหญ่ส่งคำสั่งซื้อขายผิดพลาด แต่ในขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดคำสั่ง “ฝั่งขาซื้อ” และ “ฝั่งขาขาย” จึงจับคู่กันได้อย่างลงตัว

หุ้น MORE ยังคงปักหัวลงเหวอีก 30% สำหรับการซื้อขายในวันถัดมา สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีว่าทำหน้าที่บกพร่องและล่าช้า เนื่องจากไม่สั่งหยุดพักการซื้อขาย (SP) หุ้น MORE ไว้เป็นการชั่วคราว

ผ่านไป 2 วันทำการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกโรงเตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังก่อนซื้อขายหุ้น MORE เพราะราคาหุ้นยังร่วงลงต่อเนื่อง รวมทั้งกำชับบริษัทหลักทรัพย์ให้ดูแลการซื้อขายอย่างใกล้ชิด

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งพักการซื้อขายหุ้น MORE ชั่วคราว ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้เหตุผลว่ามีกระแสข่าวที่อาจทำให้เกิดความสับสน อาจกระทบต่อสภาพการซื้อขาย และการตัดสินใจซื้อหรือขายของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องการให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและครบถ้วนก่อน

หลังจากนั้นได้สั่งหยุดพักการซื้อขายหุ้น MORE ชั่วคราวเพิ่มเติมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีธุรกรรมผิดปกติของการซื้อขายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 จนกว่าจะมีความคืบหน้า

เมื่อมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (เคลียร์ริ่ง) ความผิดปกติจากการซื้อขายหุ้น MORE ส่อแววสั่นคลอนความเชื่อมั่นของระบบตลาดหุ้นไทย

เนื่องด้วย ณ วันที่ T+2  ซึ่งเป็นวันชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี ได้เกิดการผิดนัดชำระค่าหุ้น MORE จากบริษัทหลักทรัพย์ใน “ฝั่งขาซื้อ” หลายแห่ง เพราะนักลงทุนรายใหญ่ไม่มีเงินมาจ่ายให้

ปัญหา MORE ส่อเค้าบานปลาย ชี้ให้เห็นช่องโหว่ หรือ จุดอ่อนของบริษัทหลักทรัพย์ในการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับนักลงทุนรายใหญ่โดยไม่คำนึงถึงหลักประกัน

ในกรณีนี้บริษัทหลักทรัพย์เพิ่มอำนาจซื้อให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ตั้งตัวแทน หรือ “นอมินี” มารับซื้อหุ้นที่ขาย ผ่านการซื้อด้วยบัญชี Margin ซึ่งเป็นการกู้เงินบริษัทหลักทรัพย์ โดยนำหุ้น MORE มาค้ำประกันเพื่อแลกกับวงเงินในการเข้าซื้อหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว หรือมีมูลค่าสูงกว่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของบัญชี Margin นี้ ชื่อ “อภิมุข บำรุงวงศ์” หรือ “ปิงปอง”

ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ “ฝั่งขาซื้อ” ได้นำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำเงินจำนวน 157.99 ล้านบาท ไปจ่ายค่าหุ้น MORE ให้กับสำนักหักบัญชี ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าไม่ได้อนุญาต

รวมทั้งยังกระทำผิดฐานไม่นำเงินลูกค้าแยกออกจากกิจการ ตลอดจนมีฐานะเงินกองทุนไม่เพียงพอตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตหากดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ

ความผิดปกติจากการซื้อขายหุ้น MORE สร้างปรากฏการณ์ให้เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ในตลาดทุนไทย เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้เข้าร่วมตรวจสอบธุรกรรม และใช้อำนาจของ ปปง.ขอให้ธนาคารระงับการถอนเงินจาก “ฝั่งขาขาย” หุ้นออกไปก่อน ซึ่งต่อมา ปปง.ได้ทำการอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับรายการซื้อขายดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาท จนกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้

หุ้น MORE ยังถือเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย ที่ ก.ล.ต.ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบให้เกิดความรวดเร็วจนสามารถสรุปสำนวน ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน

เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีการสร้างราคา หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE โดยพบข้อเท็จจริง รวมถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่ากลุ่มบุคคลนั้นร่วมกันกระทำการสร้างราคา หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม-10 พฤศจิกายน 2565

กลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวโทษนี้ มีทั้งผู้ถือหุ้น MORE ผู้คนในตระกูลดัง รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย ประกอบด้วย

(1) นายอภิมุข บำรุงวงศ์ (2) นายเอกภัทร พรประภา (3) นายอธิภัทร พรประภา (4) นางอรพินธุ์ พรประภา (5) นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล (6) บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด (7) บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด (8) นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (9) นายโสภณ วราพร (10) นายวสันต์ จาวลา (11) Mr. Shubhodeep Prasanta Das (12) นายประยูร อัสสกาญจน์ (13) นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ

(14) นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์ (15) นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (16) นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์ (17) นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ (18) นายมั่นคง เสถียรถิระกุล (19) นางสาวอรเก้า ไกยสิทธิ์ (20) นายเกรียงศักดิ์ วงศ์โอสถพานิช (21) นางสาวสิริรัตน์ สมณาศรี (22) นายธีรพงศ์ ด่านวณิชวงศ์ (23) นายวิศรุต เจียมจิตพลชัย (24) นายปรณัฐ นุชาชาติพงศ์ (25) นายภูดิท สุจริตกุล (26) นายวัชรินทร์ ยังให้ผล (27) นายธนยุทธ ฤกษ์รักษา (28) นายธรรมนูญ เวชวิทยาขลัง (29) นายภัทร ฉัตรเจริญสุข (30) นายชยพล พันธุ์แพ (31) นายพิเชษฐ์ ผลสุวรรณชัย (32) นางศศินภา วราพร

จากการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต.พบว่า บุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ทางเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงช่องทางและสถานที่ในการส่งคำสั่งซื้อขาย ได้แบ่งหน้าที่กันหรือตกลงร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ รวมทั้งส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน

มุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดอันเข้าข่ายเป็นฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 (แล้วแต่กรณี) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้รับหรือพึงได้รับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 32 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อด้วย เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ยังคงเปิดดำเนินธุรกิจ ส่วนงานซื้อมาขายไป ส่วนงานสาธารณูปโภค ส่วนงานบริการ และธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ผลการดำเนินงานของ MORE ในงวดไตรมาส 1 ปี 2566 ขาดทุน 320,000 บาท มีรายได้รวม 18 ล้านบาท และหากมองย้อนหลังกลับไปตกอยู่ในภาวะแย่ลงต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีกำไร 1,158.67 ล้านบาท ลดเหลือ 13.91 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่มีรายได้รวม 143.73 ล้านบาท 140.21 ล้านบาท ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 กับสิ้นปี 2565  MORE มีสินทรัพย์รวม  1,898.03 ล้านบาท  ลดลงจาก 2,002.20 ล้านบาท เนื่องจาก ตราสารทุน-หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ มีมูลค่าลดลง อย่างไรก็ตาม หนี้สินหมุนเวียนลดลงจำนวน 20.62 ล้านบาท ทำให้หนี้สินรวมลดเหลือ 106.24 ล้านบาท

มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,772.43 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 จำนวน 82.16 ล้านบาท เพราะหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และใบสำคัญแสดงสิทธิมีมูลค่าลดลง  ณ สิ้นไตรมาส ปี 2566 เงินสดสุทธิติดลบ 88.68 ล้านบาท จาก 679.65 ล้านบาท สิ้นปีก่อน

มหกรรมปล้นเงินโบรกเกอร์กลางแดดจากการซื้อขายหุ้น MORE ครั้งนี้ นักลงทุนรายย่อยได้รับความเสียหาย เพราะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ราคาหุ้น MORE ทรุดตัวลงเป็นหน้าผา จาก 2.90 บาท จนแทบจะไม่เหลือมูลค่า ล่าสุดอยู่ต่ำกว่า 1  บาท

นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับบริษัทหลักทรัพย์อย่างมาก บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งต้องตั้งเงินเพื่อสำรองฐานเงินทุน ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องปิดการดำเนินธุรกิจในที่สุด

ซึ่งนั่นอาจจะถือเป็นจุดเริ่มต้นรอยร้าวฉานระหว่างประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. “พิชิต อัคราทิตย์” และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. “รื่นวดี สุวรรณมงคล”

Back to top button