“คลัง” เปิดเกณฑ์ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนภาษี 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค.67

“คลัง” เผยเกณฑ์ “Easy E-Receipt” บุคคลธรรมดาลดหย่อนซื้อสินค้า-บริการ ไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67 คาดเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท หนุนจีดีพีโต 0.18%


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการ Easy E-Receipt จะให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการทั่วไปเฉพาะค่าซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท เพิ่มจีดีพี 0.18% เมื่อเทียบกับไม่มีมาตรการ

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้มาตรการ Easy E-Receipt แล้ว หากเข้าเงื่อนไขของเกณฑ์ Digital Wallet ยังสามารถใช้โครงการดังกล่าวได้ด้วย โดยมาตรการดังกล่าว ต้องการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศช่วงต้นปี และเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ ประมาณ 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว สำหรับปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบจดทะเบียนประมาณ 4,000 กว่าราย แต่ช่องทางจำหน่าย 110,000 กว่าจุดทั่วประเทศ ดังนั้นเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้มีผู้เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น

สำหรับบุคคลที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว คือ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ซึ่งมีกำหนดการยื่นแบบ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2568

ส่วนสินค้าและบริการเข้าเกณฑ์นั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศ โดยสินค้าที่ไม่เข้าร่วม คือ ค่าซื้อสุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ, ค่าซื้อรถยนต์, รถจักรยานยนต์ และเรือ, ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต, ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น

Back to top button