“ทส.” ร่วมเวที COP28 แลกเปลี่ยนแนวคิด รับมือโลกร้อน คุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาฯ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยผลสรุป COP28 ร่วมรับมือยุคโลกเดือด เร่งคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยันไทยมุ่งมั่นร่วมประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และโครงการ Supporting Preparedness for Article 6 Cooperation (SPAR6C) จัดการประชุมเผยแพร่สรุปผลการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ COP 28 Debrief ที่จัดขึ้น ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ

โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้บริหาร ทส. ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา นักเรียนและนักศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วมงานดังกล่าว ร่วมกับผ่าน Facebook live อีกกว่า 500 คน

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า เวที COP เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ทุกประเทศต้องร่วมกันดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณว่าเรายังห่างจากเป้าหมายอยู่มาก แต่ยืนยันว่าประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับประชาคมโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวฯ กลไกการเงินที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ เน้นย้ำการสื่อสาร สร้างความเข้าใจในวงกว้างให้กับทุกภาคส่วน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนในการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย เพื่อตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอสรุปภาพรวมของการประชุม COP 28 และแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยในระยะต่อไป โดยจากการประเมินสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก พบว่าการทำงานยังดีไม่พอที่จะทำให้อุณหภูมิได้มากสุดแค่ 2.6 องศาในขณะที่เป้าหมายคือ 1.5 องศา ถ้าจะบรรลุเป้าหมาย 2593 จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลง 43% ในปี 2573 และต้องลด 60%ในปี 2578 ซึ่งประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ลง 30% ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วน พลังงานหมุนเวียน (RE) 3 เท่า เพิ่ม Emission Factor (EF) 2 เท่า รวมถึงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยให้สู่ความเป็นการทางคาร์บอน ต้องดังนี้

1.สื่อสารกับทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน

2.ตั้งเป้า NDC Action Plan 2564-2573

3.เร่งจัดทำ พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยฟังเสียงจากประชาชน ภาครัฐและเอกชน

4.พัฒนาศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น

5.พัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

6.พัฒนาระบบติดตามการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Back to top button