ลุ้น “กลุ่มเครื่องดื่ม” กำไรปี 67 โต 15% โบรกชู CBG เป้า 100 บาท

“บล.บัวหลวง” ประเมิน “อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม” ปี 67 กำไรโต 15% รับอานิสงส์ตลาดฟื้น-ต้นทุนลด และคาดมูลค่าตลาดโตอีก 5% แตะ 2.27 หมื่นล้านบาท อานิสงส์การบริโภค-ปริมาณการขายสูง ชู CBG เด่นสูด


บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม (Beverage) โดยคาดการณ์การเติบโตของกำไรปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหนุนจากแนวโน้มตลาดในประเทศที่ดีขึ้น ประกอบกับการเติบโตของการส่งออก การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นอะลูมิเนียมและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าต้นทุนน้ำตาลจะสูงขึ้นก็ตาม

โดยในปี 2567 คาดการณ์มูลค่าตลาดจะเติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณขายที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้มองข้ามผลกระทบของการแข่งขันที่รุนแรงในประเภทเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ชาพร้อมดื่ม เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มนี้ยังคงให้น้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด”

สำหรับการลงทุนคงคำแนะนำ “ซื้อ” อย่าง บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG และบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP แต่อย่างไรก็ตามทางฝ่ายนักวิเคราะห์ให้น้ำหนักไปที่ CBG มากกว่า เนื่องจากมีรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่าย โดยราคาหุ้นปัจจุบันของทั้งสองบริษัทอยู่ในระดับราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับระดับในอดีต

รวมถึงคาดการณ์การเติบโตของกำไรจะมาจากธุรกิจปัจจุบันและรายได้ใหม่จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายเบียร์แบรนด์ใหม่ รวมทั้งส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศของ CBG ที่เพิ่มขึ้นจาก 21% ในวันที่ 22 ธันวาคม มาอยู่ที่ 22%

ในช่วงกลางปี 2566 และเข้าใกล้ 23% ในวันที่ 23 ธันวาคม เนื่องจากกลยุทธ์ราคาขายคงที่ และการจัดโปรโมชั่น โดยคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดจะเป็น 24% ในปี 2567

ดังนั้นจากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของนักวิเคราะห์ แสดงให้เห็นว่าหาก CBG สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 25% ซึ่งเป้าหมายของบริษัท ประมาณการกำไร ของบล.บัวหลวงจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% โดยประมาณการรายได้ของบริษัทฯ สำหรับการร่วมลงทุนครั้งใหม่อยู่ที่ประมาณหนึ่งในสามของเป้าหมายของ CBG อิงจากราคาเป้าหมายที่ 100 บาท หาก CBG บรรลุเป้าหมายรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่ายเบียร์ราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 120 บาท

สำหรับกำไรของ OSP มองว่าไม่ค่อยน่าตื่นเต้นนัก เนื่องจากการเติบโตของรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ในประเทศของ OSP ลดลงจาก 51% ในไตรมาส 1/2565 (ก่อนที่จะขึ้นราคาขาย 20%) มาอยู่ที่ 46.5% ในไตรมาส 3/2566 ลดลง 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 4/2566 ซึ่งอิงจากส่วนแบ่งการตลาดของ CBG ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่เดียวกันไม่คาดว่า OSP จะได้รับส่วนแบ่งตลาดในประเทศกลับคืนมาในปี 2567 นอกจากนี้ยังคาดว่าการเติบโตของตลาดส่งออกจะอยู่ที่ 3% ในปี 2567 เนื่องจากมีแนวโน้มที่ตลาดเมียนมาร์จะอ่อนแอลง 11% ของยอดขายในปี 2567 ดังนั้นจึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 35.0% จาก 34.7% ในปี 2566 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ และพลังงานลดลง

Back to top button