เปิด “พ.ร.บ.งบฯ” ฉบับปชช. ปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านลบ. รัฐจัดสรรทุกวัย

เผยแล้ว! พ.ร.บ.งบฯ ปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ฉบับประชาชน แจงรายละเอียดจัดสรรงบตามช่วงวัย อาทิ วัยเด็ก, วัยเรียน, วัยทำงานและวัยชรา พร้อมดันเรียนฟรี 15 ปี เพื่อสร้างบุคลากรการแพทย์-สาธารณสุข


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ (3 – 5 มกราคม 2567) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะประชุมพิจารณา (ร่าง) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระแรก จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณ 2566 จำนวน 295,000 ล้านบาท คิดเป็น 9.3% ทั้งนี้คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยเอกสารงบประมาณฉบับประชาชน ปี 2567 ทั้งนี้มีได้ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 และชี้แจงเรื่องงบในหลายส่วนรวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนในแต่ละช่วยวัย อาทิ วัยเด็ก, วัยเรียน, วัยทำงานและวัยชรา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การจัดสรรงบประมาณให้กับประชากรวัยเด็ก (อายุ 0 – 6 ปี) อาทิ

เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดู เด็กแรกเกิด จำนวน 2.56 ล้านคน 16,494.61 ล้านบาท

เงินอุดหนุนสงเคราะห์เด็ก ในครอบครัวช่วยเหลือ เด็กขาดแคลนและสงเคราะห์ เด็กฝากเลี้ยงตามบ้านจำนวน 0.11 ล้านคน 115.08 ล้านบาท

เงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวน 5,297 คน 127.13 ล้านบาท

กองทุนคุ้มครองเด็ก จำนวน 2,700 คน 38 ล้านบาท

2. การจัดสรรงบประมาณให้ประชากวัยเรียน อาทิ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุม ไม่น้อยกว่า 2.62 ล้านคน 6,044.08 ล้านบาท

จัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปีอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.ปลาย/ปวช.) สนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่น้อยกว่า 10.79 ล้านคน 83,666.24 ล้านบาท

สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียน สนับสนุนค่าอาหารกลางวัน 5.70 ล้านคน 28,023.75 ล้านบาท สนับสนุนค่าอาหารเสริม (นม) 6.55 ล้านคน 12,634.73 ล้านบาท

สนับสนุนทุนการศึกษา อาทิ ปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอกและทุนประเภทอื่นๆ จำนวน 68,027 ทุน 7,149.63 ล้านบาท

ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (แพทย์/พยาบาล/บุคลากรทางการแพทย์) ไม่น้อยกว่า 26,133 คน 2,304.11 ล้านบาท และการอุดมศึกษาฯ (แพทย์) ไม่น้อยกว่า 4,453 คน 2,099.69 ล้านบาท

3. การจัดสรรงบประมาณให้กับวัยแรงงาน อาทิ

งบประมาณสมทบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 จำนวน 13.67 ล้านคน 53,664.93 ล้านบาท และมาตรา 40 จำนวน 10.96 ล้านคน จำนวน 1,808 ล้านบาท

สนับสนุนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จำนวน 2.64 ล้านคน 633.6 ล้านบาท

เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้เข้ารับ การฝึกอาชีพ จำนวน 1,520 คน 8.60 ล้านบาท

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จำนวน 1.22 ล้านคน 78,775 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่ นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 1,520 คน 5.99 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานกลุ่ม เป้าหมายเฉพาะเพื่อเพิ่มโอกาส ในการประกอบอาชีพวิถีใหม่ จำนวน 11,960 คน 29.90 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรี เพื่อยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน จำนวน 3,100 คน 6.60 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะเฉพาะของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) จำนวน 20,200 คน 141.90 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,500 คน 9.68 ล้านบาท

4. การจัดสรรงบประมาณให้คนวัยชรา อาทิ

เบี้ยผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมาย 11.83 ล้านคน งบประมาณ 93,215.13 ล้านบาท

เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบ้ากกลุ่มเป้าหมาย 12,500 คน งบประมาณ 37.5 ล้านบาท

เงินอุดหนุนปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุให้มี ความปลอดภัย บ้านผู้สูงอายุ 11,000 แห่ง งบประมาณ 440.00 ล้านบาท

กองทุนผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมาย 1,900 คน งบประมาณ 57 ล้านบาท

เงินอุดหนุนการจัดการศพผู้สูงอายุ ตามประเพณีกลุ่มเป้าหมาย 115,251 คน งบประมาณ 345.84 ล้านบาท

Back to top button