ตลท.หารือ “ก.ล.ต.” อุดช่องโหว่แก๊ง “ปั่นหุ้น”

“ตลท.” เล็งหารือ “ก.ล.ต.” อุดช่องโหว่การกระทำความผิดแก๊ง “ปั่นหุ้น” เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุน ขณะที่พัฒนาระบบ Financial data health check ติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียนออกมาเพื่อให้มีการชี้แจงข้อมูลโดยเฉพาะรายละเอียดในงบการเงิน


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกันศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้นออกมาได้เร็วขึ้นเพราะปัจจุบันข้อมูลจะยังไม่ออกมาจนกว่าจะมีผลการตัดสิน จึงมีช่องว่างของเวลาค่อนข้างมาก

โดยเห็นปัญหานี้และจะกลับไปทำการบ้านเพราะไม่ใช่แค่ (ตลท.) ที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบเมื่อพบการกระทำความผิดกฎหมายระบุให้รวบรวมข้อมูลส่งให้ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบในเชิงลึก ขณะที่ (ตลท.) ไม่มีอำนาจจัดการกระบวนการนั้นซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ (ตลท.) พยายามประสานด้วยความรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าทั้งกรณี STARK และ MORE สามารถกล่าวโทษได้เร็วแต่บางกรณีมีผู้กระทำผิดจำนวนมาก ซึ่งจะต้องได้รับการพิสูจน์จนกว่าจะหมดข้อสงสัย โดยเฉพาะความผิดอาญา

“ทั้งนี้จะมีอะไรที่สามารถให้ข่าวได้บ้าง จะมีอะไรที่สามารถให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนได้บ้าง จะไปทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.” นายภากร กล่าว

ขณะที่การให้ข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้เป็นสิ่งที่ (ตลท.) ให้ความสำคัญ ซึ่งในปีนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนพร้อมพัฒนาระบบ (Financial data health check) เพื่อติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน อาทิ ข้อมูลงบการเงิน ผลประกอบการ เป็นต้น

ทั้งนี้คอนเส็ปต์หลักในอนาคตคือการให้ข้อมูลและทำอย่างไรให้นักลงทุนรวมถึงสื่อได้รับข้อมูลเร็วขึ้น ขณะที่ในอดีตเป็นรายไตรมาสแต่จะปรับให้ถี่ขึ้นเรื่อยๆหากมีข้อมูลมากขึ้นแล้วไม่มีคนนำไปวิเคราะห์หรือไปใช้ต่อก็ไม่มีประโยชน์ หวังว่าสื่อโซเชียล นักวิเคราะห์ หรือผู้ที่สนใจตลาดทุนควรใช้ข้อมูลไปสร้างประโยชน์เพื่อการลงทุนในอนาคตอีกทั้งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาการทำงานของ (ตลท.)

ขณะที่ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้มีคำสั่งต่างๆ ออกมาเพื่อให้มีการชี้แจงข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะรายละเอียดในงบการเงิน ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (ตลท.) ทำทุกบริษัทต้องเข้ามาช่วยกันดูต่อว่าตรงไหนสำคัญหรือตรงไหนไม่สำคัญ และดูว่าทำไมเราถึงให้ข้อมูลนั้น

“โดยยกตัวอย่างเคส STARK เราเห็นตัวเลขตั้งแต่ไตรมาส 3 แต่ยังไม่มีใครพูดถึง ซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เราอยากให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์พิจารณา จึงมีการสั่งให้ชี้แจงเพิ่มเติม เราดู backwards ดูอัตราส่วนการเงิน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เฝ้าติดตามดูแลใกล้ชิด ในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์ม health check เพื่อให้นักลงทุนไปใช้” นายภากร กล่าว

อีกทั้งการจับผิดมีหลายส่วน อาทิ การจะป้องกัน หยิบยกเรื่องขึ้นมาว่าผิดปกติ และการเอาผิดต้องแก้ทั้ง 3 เรื่องพร้อมกัน อีกทั้งการป้องกันทำอย่างไรที่จะให้เหตุการณ์ที่ถูกโกงเกิดขึ้นได้ยาก และเตือนให้ระวังมากกว่าการให้ข้อมูล นอกจากนี้เห็นด้วยว่า (ตลท.) และหน่วยกำกับจะต้องฟ้องร้องให้เร็วที่สด โดยยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการเอาผิดทางอาญามีขั้นตอนการตรวจสอบยาวมากแม้ว่าการเอาผิดทางแพ่งทำได้เร็วขึ้น แต่มุมมองคือยังไม่แรงพอที่จะทำให้ขยาด ดังนั้น ทั้ง 3 เรื่องต้องไปทำการบ้านเพิ่มรวมถึงเห็นความร่วมมือของหน่วยงานกำกับแล้วว่าดีขึ้นเร็วขึ้น หวังว่าจะทำ step ที่ 3 ให้ได้เร็วขึ้น

“โดย (ตลท.) ไม่ได้เป็นหน่วยกำกับแต่เป็น marketplace เป็น front line ไม่ใช่ตำรวจ เมื่อเห็นคนกระทำผิดก็บอกตำรวจและประสานความร่วมมือ พร้อมส่งข้อมูลให้หน่วยกำกับเข้าไปดูการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดปกติ ประสาน ตำรวจ ก.ล.ต นำมาสู่การกล่าวโทษ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เกิดที่ (ตลท.) แต่ส่งข้อมูลให้เท่านั้น” นายภากร กล่าว

นอกจากนั้น ในปีนี้ก็จะหารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหาทางให้สมาชิกที่มีข้อมูลของผู้กระทำความผิดสามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ รวมถึงทำอย่างไรให้องคาพยพในตลาดทุนทำในสิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ที่ปรึกษา คือ โอลิเวอร์ ไวแมน กำลังเข้ามาดูทั้งระบบเพื่อชี้ให้เห็นว่าใครควรจะทำอะไรบ้าง ใครทำอยู่แล้ว ใครยังไม่ได้ทำ (ตลท.) จะเริ่มปรับอย่างนั้นได้อย่างไร แต่จะต้องเป็นสเต็ปไป

Back to top button