กลุ่ม “แบงก์” ปี 66 โชว์กำไร 2.3 แสนลบ.! SCB โกย 4.3 หมื่นล้านบาท

10 แบงก์กำไรสุทธิปี 66 รวม 232,107.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 200,542.75 ล้านบาท พบ SCB-KBANK-BBL กวาดกำไรแบงก์ละกว่า 4 หมื่นล้านบาท


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการประจำปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่ง ประกาศออกมาครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่าผลประกอบการของธนาคารขนาดใหญ่ออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์และตลาดคาดการณ์ไว้

ขณะที่ภาพรวมกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง พบว่า งวดประจำปี 2566 มีกำไรสุทธิรวม 232,107.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิรวม 200,542.75 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากยอดสินเชื่อเติบโตแข็งแกร่ง รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่หลายธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้ลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกไปยังผลประกอบการของธนาคารรายตัว พบว่า สามารถมีกำไรสุทธิงวดประจำปี 2566 เติบโตแข็งแกร่งจากงวดเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ SCB, KBANK, BBL, KTB, BAY, TTB, TISCO, LHFG ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและมีการตั้งสำรองลดลง ส่วน CIMBT และ KKP กำไรสุทธิปี 2566 กลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยปรับตัวลงและการตั้งสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41,635.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.07% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 29,305.59 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นและการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,096.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,578.76  ล้านบาท เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้จากการดําเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นลดลง

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 18,462.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.06% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 14,195.19 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42,405.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 35,769.49 ล้านบาท เป็นผลมาจากรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ รวมถึงกำไรจากการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลประประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,521.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.91% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 37,546.01 ล้านบาท เป็นผลมาจากรับรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากรายได้จากการลงทุนเพิ่มและการควบคุมต้นทุนได้อย่างเข้มงวด

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 36,615.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  8.66% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 33,697.74 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 32,929.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 30,712.99 ล้านบาท เป็นผลมาจากรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,302.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,224.08 ล้านบาท รับรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลประกอบการงวดปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่  5,443.40 ล้านบาท ลดลง 28.40% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ  7,602.10 ล้านบาท เป็นผลมาจากภาวะตลาดที่ยังคงผันผวนและส่งผลกระทบต่อการลงทุน (ขาดทุนการขายรถยึด) ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวลง

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลประกอบการงวดปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,605.27 ล้านบาท ลดลง 44.85% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,910.80 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง และประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันหลังจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยทางบริษัทหลักทรัพย์ต่างได้ออกบทวิเคราะห์ต่อธนาคารดังต่อไปนี้

บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BBL ให้ราคาเป้าหมาย 200 บาท แม้ว่ากำไรในไตรมาส 4/2566 จะต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่ได้มองลบเพราะคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ BBL สามารถเผชิญอุปสรรคในระยะสั้นได้

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” TTB ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 2.10 บาท โดยมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 เพิ่มขึ้น 13% และปี 2568 เพิ่มขึ้น 11% จากการปรับ NIM เพิ่มขึ้นเป็น 3.20% จากเดิมที่ 3.06% เพราะ NIM ปี 2566 ดีกว่าคาดการณ์ 0.20% และมีการใส่ Tax benefit เข้าไปเพิ่มปีละ 3.1 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นได้ดีที่ 13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และคาดการณ์ว่ากำไรไตรมาส 1/2567 จะเพิ่มขึ้นได้ทั้งจากงวดเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้าจากการรุกสินเชื่อที่ผลตอบแทนสูงจากฐานกลุ่มลูกค้าเดิมของ TTB

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” KBANK โดยประเมินราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 166 บาท อย่างไรก็ดี KBANK ขาย NPL ออกไป 4.8 พันล้านบาทในไตรมาส 4/2566 จาก 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เพราะราคาเสนอซื้อต่ำเกินไป, พันธมิตรยังไม่พร้อมจะขายมากกว่านี้, มีอุปทาน NPA รอขายในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับ KBANK ในการบริหารจัดการให้ NPL ลดลงในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งเป้าจะลด credit cost ในปี 2567 ให้ต่ำกว่าปี 2566 (ที่ 208bps) ทั้งนี้ หากไม่เกิดกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ขึ้น credit cost ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 180-185bps  ดังนั้นมองว่าราคาหุ้นที่ระดับปัจจุบันไม่แพง

 บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”  หุ้น SCB ราคาเป้าหมายที่ 121 บาท เนื่องจากกำไร 4/2566 ดีกว่าคาดการณ์ หลัง OpEx และสำรองหนี้ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยกำไรสุทธิไตรมาส 4/2566 ที่ 10,995 ล้านบาท ดีขึ้น 14% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 21% เนื่องจากคำใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อนหน้าตามฤดูกาล ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าว่าจะเพิ่มขึ้นราว 12% จากไตรมาสกอ่หน้าและค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ปรับตัวลดลง 24% จากไตรมาสก่อนหน้า

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BAY โดยประมาณการกำไรปี 2567 ไว้ที่ 38 พันลบ้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการเติบโต

Back to top button