“บลจ.วรรณ” หั่นเป้า SET สิ้นปี 67 เหลือ 1,580 จุด แนะ 2 กองทุนเด่น “CPNREIT-DIF”

“บลจ.วรรณ” มองตลาดหุ้นไทยปี 67 ยังมีความผันผวน จากนักลงทุนต่างชาติที่ยังทยอยขายหุ้นไทยออกต่อเนื่อง และปรับลดเป้าดัชนีสิ้นปีนี้มาอยู่ที่ 1,580 จุด พร้อมแนะนำ 2 กองทุนที่มองว่ามีความน่าสนใจ ได้แก่ CPNREIT และ DIF


นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวน จากที่เมื่อวานนี้ (24 ม.ค. 67) ดัชนีสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกกว่า 20 จุดได้ จากปัจจัยการเมือง แต่วานนี้ (25 ม.ค. 67) ก็กลับมาปรับตัวลงอีกครั้ง ซึ่งมองว่ายังมีปัจจัยกดดันจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังขายหุ้นไทยต่อเนื่องจากปีก่อนที่ขายไปกว่า 6 แสนล้านบาท และผ่านมา 10 ปี ต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท

ส่วนหนึ่งมาจากการที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยถูกปรับลงเหลือ 97 บาท/หุ้น จาก 102 บาท/หุ้น ประกอบกับยังคงรอการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาจากการลงทุนภาครัฐที่รอการผลักดันออกมา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี หลังจากที่ภาคการท่องเที่ยวได้ฟื้นกลับมาดีแล้ว แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐที่เป็นปัจจัยหนุน

“หุ้นไทยเหมือนคนป่วย จากที่เห็นเมื่อวานปรับขึ้นมา 20 กว่าจุดจากข่าวการเมือง วันนี้ก็กลับมาลง ซึ่งต่างชาติก็ยังขายออก เพราะเราถูกปรับ EPS ลงจาก 102 บาท/หุ้น มาเป็น 97 บาท/หุ้น และการลงทุนภาครัฐที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ออกมา แต่เชื่อว่าลงมารอบนี้ก็อาจจะไม่หลุด 1,300 จุด ซึ่งยังเห็นว่าตอนนี้ดัชนียังยืนได้ ส่วนกรอบบนก็ปรับมาที่ 1,580 จุด ในสิ้นปีนี้ จากที่คาดไว้ 1,600 จุด” นายพจน์ กล่าว

สำหรับการกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ในระยะสั้นเพียงครั้งเดียว และมีความเสี่ยงต่อการเพิ่มหนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้น เพราะต้องมีการหาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อการที่สถาบันจบกต่างชาติจะลดอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศไทยลง จากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อความสามารถในการชำระคีนหนี้ของประเทศไทย และส่งผลตามมาต่อการที่ธุรกิจในประเทศจะต้องมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น จากการถูกาดอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศ ทำให้การกู้ยืมเงินมาลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศจะต้องมีดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกปรับลดลงได้อีก

โดยที่สัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนที่ 10% ของพอร์ตการลงทุนในหุ้น และอาจจะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่อยู่ในลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ในปีก่อนราคาได้ปรับลดลงมาราว 30% ซึ่งทำให้นักลงทุนจะสามารถเข้าลงทุน และได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงในระดับ 8-9% และการที่ดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้แรงกดดันของผลตอบแทนจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่อนคลายลง ซึ่งแนะนำ 2 กองทุนที่มองว่ามีความน่าสนใจ ได้แก่ CPNREIT และ DIF ซึ่งสามารถมีสัดส่วนการลงทุนได้ราว 15%

ส่วนประเด็นด้านความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงตลาดหุ้นกู้ของไทย ที่กระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนของนักลงทุน แต่มองว่าหุ้นกู้ที่ในไทยที่เกิดการ Default คิดเป็นมูลค่าเพียง 1% ของทั้งตลาด ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม และบางธุรกิจเป็นเพียงแค่การ Delay ขอขยายระยะเวลาการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดออกไป

เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่งานอาจจะส่งมอบล่าช้าไปปีหน้า ก็ขอขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นออกไป แต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบมาก ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังคงแนะนำให้ลงทุนในตลาดสารหนี้ที่เป็น Investment Grade และหลีกเลี่ยง High Yield Bond ส่วนหากนักลงทุนอยากลงทุน High Yield Bond แนะนำให้ลงทุนใน High Yield Bond ของสหรัฐ ซึ่งยังมีความน่าสนใจมากกว่า และมีความเสี่ยงที่ยังไม่สูงมาก ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเดินหน้าทำ All time high สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐและกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฒี่แข็งแกร่งและยังเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง

ส่วนตลาดหุ้นจีนมองว่ายังมีความน่าเป็นห่วง แม้ว่า GDP จะโตได้ 5% แต่หุ้นจีนไม่ได้ขึ้นเลย และปรับตัวลงมาแรง ซึ่งยังมีความกังวลในเรื่องของ Domino effect จากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนที่ยังมีโอกาสล้มได้ ซึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียมองว่าตลาดหุ้นที่ยังน่าสนใจลงทุนในภูมิภลคเอเชีย ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นอินเดีย หรือตลาดหุ้นเวียดนาม ประกอบกับการหาโอกาสในการเข้าลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี A.I. เพื่อคว้าโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามเทรนด์ของโลก

Back to top button