BAM โชว์กลยุทธ์ขยาย “พอร์ตสินทรัพย์” ตั้งเป้าปี 67 เก็บหนี้ 2 หมื่นล้าน

BAM กางแผนปี 67 เก็บหนี้ 20,000 ล้านบาท พร้อมดันฐานสินทรัพย์เพิ่ม 70,000 ล้านบาท มุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน


นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 67 ว่าบริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 69 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท ขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์และโอกาสทางธุรกิจของบริษัท

โดยปัจจุบัน มี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท ขณะเดียวกันสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย ซึ่งคิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ประกอบไปด้วยการขยายธุรกิจ (Business Expansion) โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว

ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business)  วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทจะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน อีกทั้งการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจ และประเมินราคาทรัพย์สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม และยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA ซึ่งช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

ด้านนายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทยังได้เตรียมความพร้อมในการสร้างบุคลากรด้วยการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับอนาคต Capability Development ด้วยการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability อย่างไรก็ตามยังตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งบริษัทได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน “SET ESG Ratings” 2 ปีซ้อน และมีผลการประเมินที่ระดับ “AA” สะท้อนให้เห็นว่าได้ยกระดับการดำเนินงานและการจัดทำรายงานความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG รวมทั้งยังมีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งพร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับ ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล

ขณะที่ นายพงศธร มณีพิมพ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค กล่าวว่าบริษัทมีสำนักงานสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเครือข่ายสำนักงานภูมิภาคช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าและให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยพนักงานในสำนักงานสาขาส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ทำให้มีความเข้าใจสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในการเจาะกลุ่มเป้าหมายการทำตลาด รวมถึงยังทำให้สามารถประเมินราคาของทรัพย์สินในกระบวนการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้แม่นยำยิ่งขึ้น

อีกทั้งมีความสามารถที่จะปรับตัวตามสภาวะตลาดตามความเหมาะสม โดยอาจเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งสำนักงานสาขาและเปลี่ยนกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการโยกย้ายพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเพื่อปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักงานสาขาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของบริษัท ให้ประสบความสำเร็จ ช่วยให้สามารถติดตามและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล กล่าวว่าปัจจุบันบริษัท ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์) ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลสำคัญขององค์กรและรายงานต่างๆ จากแหล่งเดียวกัน

ทั้งนี้ เป็นการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) และเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของบริษัทที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

Back to top button