สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ก.พ. 2567

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ก.พ. 2567


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดเหนือระดับ 5,000 จุดได้เป็นครั้งแรก และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 16,000 จุดได้ในช่วงสั้นๆ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงและหุ้นชิป ซึ่งรวมถึงหุ้นอินวิเดีย เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,671.69 จุด ลดลง 54.64 จุด หรือ -0.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,026.61 จุด เพิ่มขึ้น 28.70 จุด หรือ +0.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,990.66 จุด เพิ่มขึ้น 196.95 จุด หรือ +1.25%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นลอรีอัล และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี STOXX600 ปิดตลาดที่ระดับ 484.83 จุด ลดลง 0.44 จุด หรือ -0.09% แต่บวก 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,647.52 จุด ลดลง 18.11 จุด หรือ -0.24%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,926.50 จุด ลดลง 37.33 จุด หรือ -0.22% และดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,572.58 จุด ลดลง 22.90 จุด หรือ -0.30%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มประกันชีวิต หลังจากหุ้นลีเกิล แอนด์ เจเนอรัล กรุ๊ป ร่วงลง

ดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,572.58 จุด ลดลง 22.90 จุด หรือ -0.30% และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) และปรับตัวขึ้นราว 6% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันจากตะวันออกกลางและปัญหาด้านการผลิตซึ่งทำให้ตลาดน้ำมันกลั่นตึงตัว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 0.81% ปิดที่ 76.84 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 6.3% ในรอบสัปดาห์นี้ ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 56 เซนต์ หรือ 0.69% ปิดที่ 82.19ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 6.3% ในรอบสัปดาห์นี้เช่นกัน

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) และปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้ด้วย โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้าเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อใด

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. ลดลง 9.20 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 2,038.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน มี.ค. ลดลง 0.042 ดอลลาร์ หรือ 0.19% ปิดที่ 22.594 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน เม.ย. ลดลง 15.80 ดอลลาร์ หรือ 1.77% ปิดที่ 878.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน มี.ค. ลดลง 22.80 ดอลลาร์ หรือ 2.56% ปิดที่ 869.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (9 ก.พ. 67) หลังสหรัฐปรับลดระดับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ธ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่ชะลอลง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% แตะที่ระดับ 104.111 ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.08% สู่ระดับ 1.0785 ดอลลาร์ และเยนทรงตัวที่ระดับ 149.32 เยนต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับ 149.575 เยนซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 66 ส่วนเงินปอนด์แข็งค่า 0.15% สู่ระดับ 1.2635 ดอลลาร์ ขณะที่ฟรังก์สวิสอ่อนค่าลงแตะ 0.8747 ดอลลาร์

Back to top button