คลอดแล้ว! หลักเกณฑ์ไลเซนส์ตั้ง “ธนาคารไร้สาขา” บังคับหลังประกาศ 15 วัน

ราชกิจจานุเบกษา! ประกาศหลักเกณฑ์-เงื่อนไขขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ "ธนาคารไร้สาขา" มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 15 วัน และยื่นคำขอผ่านธปท.ได้ภายใน 6 เดือน จากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาคำขอจัดตั้งภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Vitual Bank) ตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน(แนวนโยบาย Financial Landscape) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางทิศทางด้านดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

โดยหนึ่งในแนวนโยบายสำคัญ  คือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่  ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(Virtual  Bank)เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาพัฒนานวัตกรรมและนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่พร้อมใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนและเพิ่มเติมโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs  โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) รวมถึงสร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้น  ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบุบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ในประกาศได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาดังต่อไปนี้

(๑) มีประสบการณ์และทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาได้ตามรูปแบบและแผนการประกอบธุรกิจตามข้อ ๖ (๑)

(๒)  มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

(๓) มีประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย

ข้อ ๔ นอกจากต้องมีคุณสมบัติที่กำหนดตามข้อ ๓ แล้ว บุคคลในผู้ขออนุญาตรายใดที่จะเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) มีธรรมาภิบาลและชื่อเสียงที่ดี

(๒) มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานะทางการเงินมั่นคง

(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๔) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม

(๕) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทางการเงินและระบบการชำระเงิน

(๖) ไม่เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินและระบบการชำระเงินในขณะที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจหรือเพิกถอนการจดทะเบียนประกอบธุรกิจ โดยผู้นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในการถูกเพิกถอนการอนุญาตหรือถูกเพิกถอนการจดทะเบียน

(๗) ไม่เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน บริษัทแม่ของสถาบันการเงิน หรือบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือถูกถอดถอนหรือพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของกรรมการ หรือผู้บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย  เว้นแต่การถอดถอนหรือการพันจากตำแหน่งนั้นไม่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตหรือทุจริตต่อหน้าที่

(๘) ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐฐานทุจริตต่อหน้าที่

(๙) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

(๑๐) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดในความผิดมูลฐาน หรือกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และไม่เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

(๑๑) ไม่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ กล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกำลังถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานฉ้อโกง หรือทุจริต เว้นแต่ปรากฏว่าคดีถึงที่สุดโดยไม่มีความผิด

(๑๒) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำหรือเคยกระทำการอันเป็นการหรือก่อให้เกิดการฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชน หรือเป็นการปฏิบัติต่อผู้บริโภคโดยไม่สุจริตหรือไม่เป็นธรรม

(๑๓) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำหรือเคยกระทำการอันเป็นการหรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดอันอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่แสดงถึงการกระทำอันส่อไปในทางไม่สุจริต

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตาม (๕) และ (๖) ให้ “ธุรกิจทางการเงินและระบบการชำระเงิน”หมายความว่า ธุรกิจทางการเงินและระบบการชำระเงินตามที่กำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน บริษัทแม่ของสถาบันการเงิน และบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน

ทั้งนี้การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 15 วัน จากผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยยื่นคำขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และช่องทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด พร้อมทั้งนำส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูลประกอบคำขออนุญาตให้ครบถ้วนถูกต้องตามประกาศนี้และตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) (ประกาศฯ) เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน

โดยประกาศฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยไม่มีสาขาที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) และประชาชนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) เข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของประกาศฯ เป็นการกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และทรัพยากรที่เพียงพอในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีและการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ และผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศฯ กำหนด โดย ธปท. และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ ประกาศฯ ได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติมีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม กระทรวงการคลังคาดหวังว่า Virtual Bank จะเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินและเร่งการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของระบบการเงินและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้มี 3 กลุ่มทุนใหญ่ที่ประกาศจะเข้ายื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ได้แก่ กลุ่มแรก บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ กลุ่มที่สองกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และกลุ่มที่สาม แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” และพันธมิตร

โดยกลุ่มแรกคือ SCB และพันธมิตร โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า พร้อมเดินหน้าจัดตั้งธนาคารไร้สาขา ดังนั้น SCB ได้ดึงพันธมิตรด้านเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วมลงทุนการจัดตั้ง Virtual Bank ครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ SCB ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักในการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา โดย SCB ได้เปิดตัว KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ที่เข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย 20%

“ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กร ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง” นายอาทิตย์ กล่าว

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง “เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) หรือ “ธนาคารไร้สาขา”

โดยนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศเกณฑ์ออกมาเร็ว ๆ นี้ ตอนนี้พันธมิตรแต่ละรายอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด สัดส่วนการถือหุ้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนของ “เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) จะเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดเจนหลังเกณฑ์ออกมาอีกครั้ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า กรุงไทยตั้งใจจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่พร้อมยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank รายแรก ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนาม MOU กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน)

ทั้งนี้ KTB ถือว่ามีความพร้อมเรื่องระบบการเงินอยู่แล้ว และมีฐานลูกค้าผ่าน 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่ Krungthai Connext, เป๋าตัง และถุงเงิน อยู่ประมาณ 40 ล้านราย ซึ่งหากรวมกับฐานลูกค้าเอไอเอส 50 ล้านรายแล้ว จะเท่ากับ 90 ล้านราย

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การจัดตั้ง Joint Venture ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำ Virtual Bank ครั้งนี้ มองว่าถือเป็นการแก้โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SME) ที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินได้ เนื่องจากต้องแสดงหลักฐานต่าง ๆ มากมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในแบงก์พาณิชย์ตามปกติ ขณะที่โออาร์ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนแก้โจทย์ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีอีโค่ ซิสเท็มขนาดใหญ่ ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมัน (พีทีที สเตชั่น) มีร้านค้ามากมาย, ร้านคาเฟ่อเมซอน รวมทั้งสมาชิก Blue Card ประมาณ 8 ล้านคน

ดังนั้น OR จึงเห็นปริมาณการใช้จ่ายของลูกค้า การจ่ายค่าเช่าว่าตรงเวลาหรือไม่  โดยเฉพาะลูกค้าสถานีบริการน้ำมัน ที่ต้องการแหล่งเงินทุนในอนาคต เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ก็สามารถรับประกันได้ว่าลูกค้าดังกล่าวมีฐานะทางการเงินดี เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับเวอร์ชวลแบงก์

นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ หัวหน้าแผนกงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเรื่อง Virtual bank ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างรอประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งมองว่า Virtual bank เป็นส่วนหนึ่งของ Digital Service ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทได้ในอนาคต

ส่วนกลุ่มที่สามคือ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ของกลุ่มซีพี-ทรู ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และพันธมิตร เตรียมยื่น License ในการตั้งเป็น Virtual Bank เช่นกัน ปัจจุบันทรูมันนี่มีฐานผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคน

ทั้งนี้ ทรูมันนี่มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เข้าเกณฑ์ของธปท. ที่จะสามารถเปิดให้บริการและควบคุมความเสี่ยงได้ ทั้งมีระบบไอทีที่ดี มีประสบการณ์ด้านดิจิทัลชาแนล และฐานข้อมูลแข็งแรง ปัจจุบันบริการทรูมันนี่ก็คล้ายกับธนาคารอยู่แล้ว โดย Virtual Bank ค่อนข้างจะมีประโยชน์ ต้นทุนการให้บริการน่าจะลดลง ขยายรับความเสี่ยงในการขยายไปปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น

ด้านน.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงความคืบหน้าของการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ว่า ภายหลังจากวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ธปท.นำส่งร่างหลักเกณฑ์ให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้คาดว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติหลักเกณฑ์ และประกาศหลักเกณฑ์ลงราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือนมีนาคม 2567 และเปิดรับสมัครผู้สนใจในเดือนเดียวกัน โดยมีระยะเวลาการเปิดรับสมัครเป็นเวลา 6 เดือน

หลังจากนี้ ธปท.จะพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ายื่นใบสมัคร 9 เดือน และประกาศผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซนส์) ได้ช่วงกลางปี 2568 โดยจำนวนเวอร์ชวลแบงก์ทั้งสิ้น 3 ราย และมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จากนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาในการเตรียมตัวเป็นเวลา 1 ปี และคาดว่าจะดำเนินการธุรกิจได้ภายในปี 2569

โดยธปท.จะพิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้จัดตั้ง Virtual Bank นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอฯ และนำเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อรมว.คลัง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 9 เดือน ทั้งนี้ในเบื้องต้นธปท.คาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจำนวนไม่เกิน 3 ราย

ทั้งนี้ จะต้องจัดตั้งในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ และต้องมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย และไม่อนุญาตให้จัดตั้งสาขา หรือบริการผ่านตู้ ATM หรือ CDM เหมือนรูปแบบเดิม โดยต้องให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก

Back to top button