ราชกิจจาฯ ประกาศ กทม. จ่ายหนี้ “BTS” 2.3 หมื่นล้าน เตรียมบุ๊กทันที

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 มี.ค.67 เดินหน้าจ่ายหนี้ให้ BTS โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ)


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากหนังสือราชกิจจานุเบกษา เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามควาดในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

โดยระบุ เรื่องเงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร” เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567

ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,20 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้

งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ

สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท

งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท

ผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 23,488,692,200 บาท

ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

 

อนึ่งก่อนหน้าจากการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 สมัยประชุมสามัญสมัยแรก (ครั้งที่ 3) ปี 2567 เห็นชอบขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ)

การประชุมดังกล่าวมีนายอำนาจ ปานเผือก ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายอำนาจให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครอภิปราย ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบ 44 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่มีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบ

ขณะเดียวกันนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงต่อสภากรุงเทพมหานครว่า ภาระค่าใช้จ่ายระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือ E&M ดำเนินการระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมครบกำหนดชำระ ซึ่งประมาณการรวมดอกเบี้ยถึงเดือน เม.ย. 2567 ประมาณ 23,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบหารดำเนินงานหลังจากที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ โดยหลังจากนี้จะรายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครชำระค่างาน E&M หลังจากนั้นกรุงเทพมหานครจะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสนอสภากรุงเทพมหานคร เพื่อทำการเบิกจ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ตามหากย้อนกับไปดูมหากาพย์เรื่องของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เซ็นขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอส ไปอีก 30 ปี แต่ความพัวพัน และจุดเริ่มต้นของหนี้ก้อนใหญ่กลับอยู่ที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ล้ำเข้าไปในปริมณฑล และการจ้างเดินรถที่ถูกโอนมาให้ กทม.ทั้งหมดแบบสมบูรณ์ภายใต้การใช้กฎหมาย ม.44

โดยหลังจากที่ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-อ่อนนุช รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งยื่นเข้าไปในจ.ปทุมธานี และแบริ่ง-สำโรง ที่กินพื้นที่เข้าในจ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนต่อขยายที่เพิ่มเติมมานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ กทม. ต้องแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่

เนื่องจากที่ผ่านมา กทม. ติดเงื่อนไขไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลได้ รัฐบาลจึงมีมติให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน แต่เมื่อการก่อสร้างระบบโครงสร้างเสร็จสิ้น ประชาชนต้องเปลี่ยนขบวนระหว่างจุดต่อขยาย ในปี 2558 คสช. มีมติให้ กทม.เป็นผู้เดินรถ เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ และนี่คือจุดเริ่มต้นในการแบกรับหนี้สินก้อนโต

ทั้งนี้ ประมาณกลางปี 2565 บีทีเอสเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงหนี้ กทม. 41,710 ล้านบาท  หลังจากนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกมาทวงหนี้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านการเผยแพร่คลิปวีดิโอ หลังจากที่ กทม.ค้างจ่ายเงินมานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565 พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยร้องขอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี  เพียงแต่ต้องการให้ ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนเท่านั้น

ต่อมาในปี 2566 พนักงานบีทีเอสยังได้รวมตัวกันเดินทางไปติดตามทวงนี้ถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับขู่ว่าจะหยุดเดินรถ เพื่อประท้วงที่รัฐบาล และกทม.ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างอยู่ และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการชำระหนี้ที่ค้างจ่ายค่าเดินรถให้ก่อน เพราะที่ผ่านมา บีทีเอสเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ

จากนั้นนายคีรีจึงเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อตกลงจะใช้เงินสำรองตัดจ่ายของกทม.มาใช้เฉพาะหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สินอีกกว่า 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องกล นั้น ต้องรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ถูกตีตก 3-4 ครั้ง นำวาระเข้า-ออก เหตุผลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่เห็นด้วย อาจเพราะมีประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่สมปรารถนา

ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย โดยมีมูลหนี้แบ่งเป็น

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786 ล้านบาท

Back to top button