“ดาวโจนส์” ร่วง 400 จุด หวั่น “เฟด” ตรึงดอกเบี้ยสูง หลังตัวเลขภาคผลิตแกร่ง

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงกว่า 400 จุด นักลงทุนหวั่น “เฟด” ตรึงดอกเบี้ยระดับสูงนาน หลังสหรัฐฯ เปิดตัวเลขภาคการผลิตแข็งแกร่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ ทรุดตัวลงกว่า 400 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

โดย ณ เวลา 20:41 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,157.31 จุด ลบ 409.54 จุด หรือ 1.04%

ด้านราคาหุ้นเทสลาดิ่งลง 6% ในวันนี้ หลังรายงานตัวเลขการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 1/67 ที่น่าผิดหวัง

ขณะที่นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักใกล้เคียงกันต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 63.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 29.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1 โดยดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ มีการขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวแสดงความเห็น หลังสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ว่า แม้ว่าดัชนี PCE สอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เฟดจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด

เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้ามากขึ้นอีกเกี่ยวกับเงินเฟ้อก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้” นายพาวเวล กล่าว

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ชะลอตัวจากระดับ 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่คาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.90%

X
Back to top button