TRUE ออกหุ้นกู้ 5 ชุด ดอกเบี้ยสูง 4.50% เปิดขาย 23-27 พ.ค.67

TRUE เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งใหม่จำนวน 5 ชุด อายุตั้งแต่ 1 ปี 3 เดือน ถึง 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง 2.95-4.50% ต่อปี เรตติ้ง “A+” แนวโน้ม “คงที่” นำเงินใช้ชำระคืนหนี้คงค้าง และใช้เป็นทุนหมุนเวียน


บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งใหม่ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปจำนวน 5 ชุด อายุหุ้นกู้ตั้งแต่ 1 ปี 3 เดือน ถึง 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง 2.95-4.50% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ยังคงระดับ “A+” แนวโน้ม “คงที่” (Stable) จากทริสเรทติ้ง สะท้อนความแข็งแกร่งทั้งด้านโทรคมนาคมและด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

โดยคาดการณ์ว่าเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 23-24 และ 27 พ.ค.นี้ โดยมีธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารยูโอบี และ บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ รวมถึงการขายผ่านแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

สำหรับวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ในการชำระคืนหนี้คงค้าง และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับการเติบโตของบริษัท โดยเป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป เสนอขายจำนวน 5 ชุด ดังนี้

1.หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.95-3.00% ต่อปี

2.หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.45-3.55% ต่อปี

3.หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 3 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.70-3.85% ต่อปี

4.หุ้นกู้ชุดที่ 4 อายุ 5 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.00-4.20% ต่อปี

5.หุ้นกู้ชุดที่ 5 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.30-4.50% ต่อปี ซึ่งเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดได้ตั้งแต่หุ้นกู้ครบปีที่ 5

นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) TRUE กล่าวว่า การดำเนินงานของทรูฯ ในปี 66 ภายหลังการควบรวมเป็นบริษัทใหม่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รายได้เติบโตต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น โดย EBITDA เติบโตขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส นขณะที่สามารถรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) ได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 67 นี้ บริษัทมุ่งเน้นการเติบโตและการสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืน อีกทั้งเรายังเป็นบริษัทไทยที่ได้คะแนนดัชนีความยั่งยืน DJSI สูงสุดอันดับหนึ่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

โดยในปีนี้คาดว่ารายได้จากการให้บริการจะเติบโตประมาณ 3-4% สอดคล้องกับประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ประเทศไทยและการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทคาดการณ์ว่า EBITDA จะเติบโตขึ้น 9-11% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) การควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสำเร็จที่พิสูจน์แล้วผ่านผลการดำเนินงานปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในปีนี้ได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและการสร้างวัฒนธรรมและแนวทางการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/66 ทรูฯ มียอดผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 5 แสนเลขหมายหรือคิดเป็น 1% จากไตรมาสก่อน ทำให้มียอดรวมผู้ใช้งานเป็น 51.9 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 66

นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ โดยครอบคลุมประชากร 90% ทั่วประเทศพร้อมด้วยฐานผู้ใช้บริการ 5G ที่มากสุดถึง 10.5 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสที่ผ่านมา พร้อมทั้งทรูยังได้ครองแชมป์ประสิทธิภาพอินเทอร์เน็ตมือถือที่ดีที่สุดในประเทศไทย 8 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 59-66 จากสถาบันทดสอบคุณภาพระดับโลกอย่าง nPerf ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางเป้าเพิ่มรายได้และยกระดับบริการ 5G โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G มากกว่า 16 ล้านรายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ต่อลูกค้า หรือ ARPU

โดยบริษัทและหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A+” แนวโน้ม “คงที่” (Stable) จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 29 มี.ค.67 ซึ่งตอกย้ำสถานะผู้นำทางการตลาด (market position) ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เสริมทัพด้วยโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศพร้อมด้วยชุดคลื่นความถี่ที่ครอบคลุม และชื่อแบรนด์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย อีกทั้งปัจจัยบวกจากประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวม  (Synergies)  รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

Back to top button