ดีเดย์พรุ่งนี้! “ข้าราชการ” บรรจุใหม่ ป.ตรี รับเงินเดือนแรกเข้า 1.8 หมื่นบาท

ดีเดย์ 1 พ.ค. รัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่วุฒิปริญญาตรี แรกเข้า 18,000 บาท พร้อมปรับเกณฑ์เบี้ยหวัดบำนาญไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท หวังดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30 เม.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 28 พ.ย.66 ที่ผ่านมา อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งวันพรุ่งนี้ 1 พ.ค.67 คือวันที่มติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้

โดยนอกจากดูแลข้าราชการแรกเข้าแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญดูแลข้าราชการที่เกษียณ ซึ่งคณะรัฐมนตรียังได้ออกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) 67 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา ขณะที่มีสาระสำคัญคือการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญหากต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท จะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนด อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการโดยจะมีผลในวันที่ 1 พ.ค.67 เช่นเดียวกัน

ด้านนางรัดเกล้า กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีความพร้อม 100% และได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ รวมทั้ง ปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบให้ส่วนราชการต่าง ๆ ตามหนังสือที่ นร. 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 และหากหน่วยงานใดดำเนินการปรับไม่ทันจะให้มีผลย้อนหลัง รวมถึงได้มีการประสานกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางไว้เรียบร้อย ขอให้ข้าราชการและผู้ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมั่นใจได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น

“นอกจากนี้ การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุข้าราชการ เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ ส่งเสริมให้ระบบราชการของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังคงคำนึงถึงผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่จะต้องดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงได้ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต พร้อมส่งผลให้ดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน” นางรัดเกล้า กล่าว

Back to top button