SCB EIC มองส่งออกทั้งปียังโต แม้ช่วง มี.ค.หดตัวแรง

SCB EIC มอง ภาคส่งออกไทยเดือนมี.ค.67 หดตัวแรงเกือบทุกกลุ่มยกเว้น “สินค้าเกษตร” ขณะที่ส่งออกทองคำหดตัว 75% สะท้อนสัญญาณฟื้นตัวยังแผ่ว คาดทั้งปีอาจยังขยายตัวได้


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30 เม.ย.67) ว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มี.ค.67 อยู่ที่ 24,960.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยหดตัวสูงถึง 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนม.ค.67 และ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนก.พ.67 ซึ่งการหดตัวในเดือนนี้เป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะการส่งออกทองคำที่หดตัวมากถึง 75% จากฐานการส่งออกทองคำในเดือนมี.ค.66 สูงกว่าปกติมาก อยู่ที่ 1,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกหลังหักทองคำหดตัวเหลือ 7.1% แต่มูลค่าการส่งออกหลังหักทั้งทองคำและปัจจัยฐานหดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะสั้นแผ่วลงเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวใกล้เคียงกันที่ 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 3 เดือนแรกปี 67 มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 0.2% อีกทั้ง การส่งออกเดือน มี.ค.67 หดตัวเกือบทุกกลุ่มยกเว้นสินค้าเกษตรที่ขยายตัวเล็กน้อย ซึ่งภาพรวมการส่งออกรายสินค้าที่หดตัวนำโดย

1.สินค้าอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัว 12.3% จากที่ขยายตัว 5.2% ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบรวมถึงอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์  ขณะที่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่มีการขยายตัว

2.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 9.9% ใกล้เคียงเดือนก่อนที่หดตัว 9.1% โดยสินค้าประเภท น้ำตาลทราย, น้ำมันจากพืช และสัตว์เป็นสินค้าหลักที่หดตัว ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงนับเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัว

3.สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวต่อเนื่อง 5% เทียบกับการลดลง 8.5% จากเดือนก่อนหน้า สุดท้าย 4.สินค้าเกษตรขยายตัว 0.1% ชะลอลงจาก 7.5% ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะยางพารา, ข้าว, ผลไม้สด, แช่เย็น, แช่แข็งและแห้ง, ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศร้อนทำให้ผลผลิตเกษตรออกช้ากว่าปกติ

ส่วนภาพรวมการส่งออกหดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ ตลาดญี่ปุ่นหดตัวรุนแรง 19.3% จากการลดลงที่ 5.8% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดหดตัวมากถึง 12 รายการ โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลดลง 31.1% และเคมีภัณฑ์ ลดลง 29.5% ส่วนตลาดจีนเป็นอีกตลาดหลักที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งปรับตัวลดลง 9.7% จากการลดลงที่ 5.7% ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะผลไม้สด, แช่เย็น, แช่แข็ง และแห้ง ลดลง 51.4% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดลง 47.6% ขณะที่ ตลาดยุโรปพลิกกลับมาหดตัว ลดลง 3.2% จากที่เคยขยายตัว 1.7% ในเดือนก่อนหน้า ส่วน 4.ตลาดเมียนมาหดตัวลดลง 14.8% ต่อเนื่องจากการลดลงที่ 14.4% ในเดือนก่อน คาดว่าเป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา

นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งบริเวณใกล้เคียงกับสะพานมิตรภาพไทยเมียนมาแห่งที่ 2 (แม่สอด) ซึ่งเป็นเส้นทางการส่งออกสินค้ามากถึง 74% ไปยังเมียนมาอาจมีผลกดดันการส่งออกต่อเนื่องในเดือนเม.ย. แม้จะมีเส้นทางอื่นที่สามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 15.5% ในเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มี.ค.67 อยู่ที่ 26123.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียบกับ 3.2% ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 38.3% และสินค้าทุนขยายตัว 11.4% ขณะที่กลุ่มยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่งหดตัวที่ 19.4% ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกกลับมาหดตัวลดลง 6.8% พร้อมทั้งสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวที่ 1.9%

อนึ่งยังมีภาพรวมการนำเข้ารายประเทศขยายตัวจาก 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัว 19.8% จากการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวถึง 7,755.8% และยานพาหนะอื่นๆ ขยายตัว 1,188.7% และ ตลาด CLMV พลิกกลับมาขยายตัว 8.4% ขณะที่ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้ขาดดุลลดลง 1,163.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับขาดดุล หรือลดลง 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.พ. 67 ทั้งนี้ ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 67 ดุลการค้าขาดดุล 4,475.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกไทยทั้งปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 3.1% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน คือ 1.ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกแม้จะไม่สดใสเหมือนที่ประมาณการไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบริเวณทะเลแดง

2.ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกที่พลิกกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 สองเดือนต่อเนื่องหลังจากหดตัวมานาน นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศ (Export order) ยังมีแนวโน้มหดตัวน้อยลง ขณะที่ดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) เริ่มขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้า

3.ราคาสินค้าส่งออกที่ดี อาทิ ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ รวมถึง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความเสี่ยงการโจมตี โรงกลั่นน้ำมันของรัสเซียโดยจากยูเครน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่เดือนเม.ย. และจะขยายตัวได้ราว 2% ในไตรมาสที่ 2 ตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ที่อาจปรับตัวดีขึ้นตามผลผลิต และการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ รถไฟฟ้า และพลังงานสะอาดของโลก รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือที่ทยอยลดลงกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยอาจได้เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการค้าโลก อาทิ 1.ปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากความแห้งแล้งของคลองปานามาและการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีบริเวณทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญของไทยไปยังสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังคงกดดันการค้าโลกอยู่ แม้ว่ามีแนวโน้มจะคลี่คลายลงในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม รวมถึงสถานการณ์สงครามระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ซึ่งมีแนวโน้มจะลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น อิหร่าน อย่างไรก็ดี เนื่องจากสงครามยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศใกล้เคียงไม่ได้มีแนวโน้มจะขยายตัวเป็นวงกว้างไปในภูมิภาค และประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศดังกล่าวค่อนข้างน้อยจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามดังกล่าวค่อนข้างจำกัด

Back to top button