
CGSI แนะถือ 2 หุ้นสื่อสาร ชี้ ADVANC กำไรไตรมาส 1 แกร่ง ฟาก TRUE ขาดทุนลดลง
CGSI ประเมิน ADVANC โชว์กำไรโตสองทิศทาง ขณะที่ TRUE ขาดทุนลดลง พร้อมแนะ “ถือ” ทั้งสองหุ้น ท่ามกลางแนวโน้มรายได้บริการโตต่อเนื่อง
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ภาพรวมกลุ่มโทรคมนาคมไทยในไตรมาส 1/2568 โดยคาดว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 15.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.1% จากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 9.7 พันล้านบาท พร้อมมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 2.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจากปีก่อน และไตรมาสก่อน
ขณะที่อัตรา EBITDA margin ปรับขึ้นเป็น 52.4% จาก 50.3% โดยมีรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวม IC) โต 5.1% จากปีก่อน แต่ลดลง 1.0% จากไตรมาสก่อน จากรายได้มือถือและบรอดแบนด์ที่เคลื่อนไหวผสมผสาน
ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 283 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 7.5 พันล้านบาท และไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 769 ล้านบาท โดยมีการตั้งสำรองค่าตัดจำหน่ายและการด้อยค่าของสินทรัพย์ราว 3.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว TRUE จะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติราว 3.2 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า และมี EBITDA อยู่ที่ 2.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อน แต่ลดลง 2.2% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ EBITDA margin ลดลงเล็กน้อยเป็น 59.4% จาก 60.6% ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ CGSI คาดว่ารายได้จากการให้บริการหลักของกลุ่มโทรคมนาคมจะเติบโตในช่วงปี 2568-2570 ที่ระดับ 2-5% ต่อปี โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU และจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์สุทธิ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านโครงข่าย ซึ่งจะช่วยให้ EBITDA ของกลุ่มโตได้ 3-10% ต่อปี
โดยในระยะสั้น CGSI แนะจับตาการประมูลคลื่นความถี่ในไตรมาส 2/2568 ที่คาดว่าจะมีปริมาณคลื่นมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาประมูลมีความสมเหตุสมผลกว่ารอบปี 2562-2563
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มโทรคมนาคมจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าโลก แต่ CGSI ยังคงแนะ “ถือ” หุ้นในกลุ่ม เนื่องจากมูลค่าปัจจุบันอยู่ในระดับสูง โดยมีค่า EV/EBITDA ปี 2568 ที่ 8.9 เท่า และ P/BV ที่ 3.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านการแข่งขันด้านแพ็คเกจราคาและการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเกิดปัจจัยบวกจากการลดต้นทุน (SG&A และโครงข่าย) และจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นกว่าคาด