
“กรุงศรี” คัด 10 หุ้นเด่น รับยอดส่งออกมี.ค.โต 17.8% นิวไฮรอบ 3 ปี
“บล.กรุงศรี” ชี้เป้า HANA-KCE-MALEE-COCOCO-AAI-ITC-STA-NER-CPF-GFPT เด่นสุด รับอานิสงส์ยอดส่งออกเดือนมี.ค.โต 17.8% นิวไฮรอบ 3 ปี ดันมูลค่าการส่งออกทะลักระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมลุ้นเดือนเม.ย.ขยายตัวต่อเนื่อง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจกลุ่มหุ้นส่งออกที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากยอดการส่งออกไทยเดือนมี.ค.68 ขยายตัว 17.8% สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจาก บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ซึ่งระบุในบทวิเคราะห์ว่ายอดส่งออกเดือน มี.ค.โต 17.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาด 10.7% (เฉลี่ยไตรมาส 1/68 ส่งออกโต 15.2%)
ส่วนยอดนำเข้าเดือนมี.ค.68 โต 14.9% ดีกว่าตลาดคาด 6.3% ส่วนดุลการค้าเกินดุล 973 ล้านเหรียญฯ ดีกว่าตลาดคาด 900 ล้านเหรียญฯ prev. 2 พันล้านเหรียญ และยอดสินค้าที่ส่งออกดีเดือน มี.ค.68 ได้แก่
- กลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ เดือน มี.ค. โต 80.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (3 เดือนแรกปี 2568โต 60.9%) และ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า 41.5%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (3 เดือนแรกปี 2568 โต 24.7%) เป็นบวกหุ้นกลุ่มชิ้นส่วน HANA, KCE
- น้ำมะพร้าวทั่วโลก เดือน มี.ค. โตต่อเนื่องโต 29% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(3 เดือนแรกปี 2568 โต 49%) หากแบ่งเป็นรายประเทศ โดยจีน มูลค่าเติบโตโต49% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, อเมริกาโต22% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, เกาหลีใต้โต33% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบไตรมาส 1/68 จีน โต 52% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, อเมริกาโต74% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, เกาหลีใต้โต 23% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน บวกต่อ MALEE, COCOCO
- ยางพารา เดือน มี.ค.โต 19.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (3 เดือนแรกปี 2568 โต 32.4%) เป็นบวกเล็กน้อยต่อ STA, NER
- ไก่สดแช่เย็น โต 5.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (3 เดือนแรกปี 2568 โต 8.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) บวกเล็กน้อยต่อ CPF, GFPT
- อาหารสัตว์เลี้ยง โต 12.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (3 เดือนแรกปี 2568 โต 13.3%) บวกเล็กน้อยต่อ AAI, ITC
ทั้งนี้ยอดส่งออกที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้มองมีโอกาสที่ GDP Growth ไทยงวดไตรมาส 1/68 มีโอกาสออกมาดีกว่าคาด (เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนสูงใน GDP) มองเป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร อาทิ KTB, KBANK และมองบวกต่อหุ้นส่งออกเน้นเชิงกลยุทธ์ระยะสั้นแนะนำเก็งกำไร KCE, CPF, GFPT, MALEE
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมี.ค.68 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.8% สูงกว่าตลาดคาดที่ 10.7-13% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค.ในระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์นี้ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการขยายตัวที่ 17.8% นั้นถือว่าสูงสุดในรอบ 36 เดือน (3 ปี) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,575 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า อยู่ที่ 973 ล้านดอลลาร์
สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.68) การส่งออกมีมูลค่ารวม 81,532 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 80,451 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.4% ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ไทยเกินดุลการค้า 1,081 ล้านดอลลาร์
รมว.พาณิชย์ เชื่อว่าการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.68 ยังมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่อาจไม่ขยายตัวได้สูงถึงระดับ 2 digit พร้อมเชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2-3%
“หากสถานการณ์ไม่ผันผวน เชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ซึ่ง 3 เดือนแรก เห็นชัดแล้วว่าโตถึง 15.2% ขณะที่เดือนมี.ค. มูลค่าทะลุ 29,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาสแรกนี้ จะเป็นแรงที่ช่วยขับเคลื่อนให้ GDP ไตรมาส 1 ปีนี้ เติบโตได้ 3%” นายพิชัยกล่าว เพิ่มเติม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.68 หากแยกเป็นรายกลุ่มสินค้าจะพบว่า
- สินค้าเกษตร หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่า 2,185.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.5% โดยสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน มีมูลค่า 2,035 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ
- สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 มีมูลค่า 24,593.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 23.5% โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป), แผงวงจรไฟฟ้า, หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในเดือน มี.ค.68 ที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 497.3% อันดับ 2 กลุ่ม CIS ขยายตัว 59.5% อันดับ 3 สหรัฐฯ ขยายตัว 34.3% อันดับ 4 ไต้หวัน ขยายตัว 29.2% อันดับ 5 ตะวันออกกลาง ขยายตัว 25.1% อันดับ 6 จีน ขยายตัว 22.2% อันดับ 7 ฮ่องกง ขยายตัว 21.3% อันดับ 8 แคนาดา ขยายตัว 16.6% อันดับ 9 อาเซียน (5) ขยายตัว 13.2% และอันดับ 10 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 11.5%
ผู้อำนวยการ สนค. เชื่อว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 2/68 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกในบางเดือนจะขยายตัวได้ 2 digit โดยปัจจัยสนับสนุนเนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสินค้าทดแทน และอีกส่วนเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ประเทศผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าสินค้า เพื่อป้องกันผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐภายในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 ก.ค. ดังนั้น จึงเชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูว่าประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาเซียน และยุโรป ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดด้วย จากการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี แสวงหาโอกาสจากวิกฤต โดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และสร้างความร่วมมือทางการค้า เพื่อกระจายตลาดให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ พัฒนามาตรการเยียวยา และกำหนดแนวทางการรับมือกับสภาวะการค้าที่ทวีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต