
BKA ขยายพอร์ตบ้าน “Flipping” โซนกรุงเทพชั้นใน ตั้งเป้ารายได้โต 20% ต่อปี
BKA เดินเกมรุกหลังเข้าระดมทุนในตลาด mai สำเร็จ ลั่นวางกลยุทธ์เร่งต่อยอดขยายพอร์ตบ้าน Flipping เพิ่ม ปักหมุดโซนใหม่ย่านกรุงเทพชั้นในเล็งปั้นรายได้รวมโตไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี มั้นใจตั้งแต่ปี 69 ทะยานโตแบบก้าวกระโดด
นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA เปิดเผยว่า ธุรกิจบ้านมือสองเป็นธุรกิจที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี บ้านเมืองสองยังขายดีอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นราคาที่กลุ่มลูกค้าที่อยากมีบ้านสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปี 2567 ยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC)
สำหรับกลุ่มบ้านระดับราคา 3-7.5 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 20% ซึ่งเติบโตสูงกว่าบ้านใหม่มือหนึ่ง และยังมีโอกาสเติบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการจากกลุ่มคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อ หันกลับมาสนใจโครงการประเภทบ้านแนวราบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกัน BKA ที่เห็นทิศทางการเติบโตธุรกิจบ้านแนวราบ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์ในไตรมาส 2/2568 เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มธุรกิจต่อจากนี้ บริษัทเชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การขยายธุรกิจภายหลังจากการระดมทุน โดยเม็ดเงินที่บริษัทได้รับในครั้งนี้ จำนวน 108 ล้านบาท บริษัทใช้หมุนเวียนและต่อยอดเพื่อขยายพอร์ต Flipping เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะบ้านมือสองที่มีศักยภาพการเติบโตจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) อยู่ในระบบจำนวนมาก ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน และหลังจากการนี้ บริษัทสามารถเข้าลงทุนซื้อทรัพย์ประเภท NPA และ AMC ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70-80 หลังต่อปี และจะเจาะตลาดในพื้นที่กรุงเทพชั้นในเพิ่มขึ้น ภายใต้การมุ่งเน้นสินค้าบ้านเดี่ยวมือสองตกแต่งใหม่ ที่ระดับราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาทเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่ม ที่มีดีมานด์สูงมีความมั่นคงทางการเงิน และมี Rejection Rate ค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้บริษัทมีโอกาสสร้างอัตราการเติบโตต่อเนื่อง สอดรับกับการตั้งเป้ารายได้รวมที่บริษัทตั้งไว้ว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี และจะเริ่มเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
“มองว่า ในปัจจุบันซัพพลายที่น่าสนใจยังมีอีกมากที่รอให้ BKA เข้าไปให้บริการ เนื่องจากลูกค้าในกลุ่ม AMC ที่มีสินค้า NPA ในมือที่รอการขายมีอยู่กว่าแสนล้านบาท และยังรอให้ BKA เข้าไปบริหารจัดการให้ในรูปแบบให้บริการ รับฝาก ขาย ซ่อมแซม ปรับปรุง ทำการตลาด และขายให้แบบครบวงจร ดังนั้นจากช่องว่างที่ยังมีอยู่ทำให้ BKA สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายพชร กล่าว
ทั้งนี้ BKA วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตผ่านการใช้ 2 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การขยายพอร์ต ในฝั่งกรุงเทพ ตะวันตก (นนทบุรี) ซึ่งเป็นโซนหลักที่บริษัทมีความชำนาญ และ2. การขยายพอร์ตเข้าเมืองกรุงเทพมากขึ้น อาทิ โซนลาดพร้าว บางกะปิ รามคำแห่ง และสวนหลวง เป็นต้น เนื่องจากเชื่อว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีกำลังซื้อที่สูง มีดีมานด์เพิ่มขึ้น และยังถือเป็นการกระจายพอร์ตรายได้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่รอบกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ บริษัทเร่งพัฒนา Platform เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบโจทย์การค้นหาข้อมูลให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้หากแผนการพัฒนา Platform ดำเนินการจะสามารถผลักดันให้บริษัทต่อยอดไปสู่ธุรกิจ Property Technology (Prop Tecn) เป็นรายแรกๆของกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
นายพชร กล่าวตอกย้ำว่า Business Model ธุรกิจท่องเที่ยว BKA ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เป็นธุรกิจการให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย ธุรกิจบ้านแต่ง หรือ Flipping ซึ่งรูปแบบธุรกิจเป็นการวางเงินประกัน เพื่อปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลังทำให้บริษัทมีส่วนต่างของผลตอบแทน และมาร์จิ้นสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องลงทุนตั้งแต่การซื้อที่ดินและก่อสร้าง ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่า ด้วย Business Model ของ BKA ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ ทำให้เราจึงเป็นรายแรก
“บริษัทเชื่อว่าด้วยรูปแบบของ Business Model ที่เป็นการให้บริการรูปแบบของ Flipping ยังคงเติบโตได้อีกแม้กำลังซื้อจะชะลอตัว เนื่องจากความต้องการบ้านยังคงมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 5-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ BKA โฟกัสอยู่แล้วเพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากนัก ดังนั้น กลุ่มนี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ผลักดันให้ บริษัทเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนและกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในระดับราคาบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท เป็นแรงบวกในการกระตุ้นอุตสาหกรรมอสังหาฯให้คึกคักมากยิ่งขึ้น” นายพชร กล่าวทิ้งท้าย