
สนค. เผยราคา “ส่งออก-นำเข้า” มี.ค. 68 ขยายตัวต่อเนื่อง แม้มี “เทรดวอร์-ค่าเงิน” กดดัน
สนค. เผยดัชนีราคาส่งออก-นำเข้า มีนาคม 2568 ยังขยายตัว แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง ชี้ ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก-ค่าเงินบาทยังเป็นความเสี่ยง
วันนี้ (30 เม.ย.68) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกและนำเข้าของไทย ในเดือนมีนาคม 2568 ยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม และจากการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการนำเข้าสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางด้านราคาของไทยในระยะข้างหน้า
ดัชนีราคาส่งออกในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 111.0 เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ปรับลดลงจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ส่งผลต่อเนื่องมายังกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลัก โดยเพิ่มขึ้น 1.5% นำโดยทองคำ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ตามเทรนด์เทคโนโลยีรุ่นใหม่ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ
ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.3% นำโดยอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋อง และผลไม้แปรรูป ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกระแสอาหารพร้อมรับประทานและการครอบครองสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ขณะเดียวกัน หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลง 10.1% โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ที่สะท้อนตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลก ส่วนหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลง 2.9% จากราคาข้าวที่อ่อนตัวลง เพราะอุปทานล้นตลาด และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงความต้องการจากจีนที่ลดลง
ดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 114.3 เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลง โดยมีแรงกดดันหลักจากราคาสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลงถึง 6.1% โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเผชิญอุปทานส่วนเกินและความต้องการที่อ่อนแรงลง
ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 8.1% ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยา เวชภัณฑ์ อัญมณี และผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้ สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ หมวดสินค้าทุน เพิ่มขึ้น 4.6% ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องจักรกล เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลและยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 4.5% โดยได้รับแรงหนุนจากทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า เศษโลหะ และแร่โลหะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ราคายานยนต์โดยสารและรถบรรทุกปรับตัวลดลงจากความต้องการที่ชะลอ ประกอบกับการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดในตลาดโลก
นายพูนพงษ์ คาดว่า แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและนำเข้า ในไตรมาส 2 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2568 เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้าขยายตัว ได้แก่ ฐานราคาปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรก ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2568 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังขยายตัวได้ดี และ ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ราคาสินค้าเกษตรลดลง จากปัญหาอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และความผันผวนของเงินบาท