“กสทช.” ผนึกพันธมิตรยกระดับป้องกัน “อาชญากรรมไซเบอร์” รับ พ.ร.ก.ใหม่

“กสทช.” จับมือหลายหน่วยงานวางมาตรการเข้มป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ผู้ให้บริการร่วมรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมยกระดับมาตรฐานการการใช้งานซิมมือถือ เพิ่มความเข้มงวดเพื่อประสิทธิภาพการป้องกันข้อมูล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 พ.ค.68 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีและความมั่นคงของรัฐ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผอ.ศปอส.ตร., พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต. เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. พล.ต.ต.ผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผบก.ภ. จังหวัดราชบุรี นายสุธีระ พึ่งธรรม  ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม พร้อมด้วย ผู้แทน สกมช. สมาคมธนาคารไทย ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดได้ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อหารือแนวทางที่เหมาะสมในการกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สอดรับกับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 เม.ย.68 ที่ผ่านมา

ทาง พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า กรณีราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการบังคับใช้ตาม พ.ร.ก. ใหม่เป็นรูปธรรม ได้มีการเรียกประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เพื่อหารือแนวทางในการกำหนดมาตรฐาน หรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รวมไปถึงส่วนของ กสทช. ให้เป็นไปตาม มาตรา 8/10 ที่กำหนดให้ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือมาตรกร เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

โดยส่วนของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น กสทช. เป็นหน่วยงานหลัก ในการกำหนดมาตรฐานหรือมาตรกร เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตาม พ.ร.ก. ที่ออกมาใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด รวมทั้งวางมาตรการป้องกันการหลอกลวงรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การใช้วิดีโอคอล, Deep fake และ AI generate AI มาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง เป็นต้น

ด้าน พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะเสนอให้ ที่ประชุม กสทช. มีมติกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สอดรับกับ พ.ร.ก.ที่ออกมาใหม่ โดยเน้นไปที่การเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างจริงจังของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรคมนาคมต่าง ๆ เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการส่งข้อมูลที่จำเป็น เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการทุกรายยังต้องมีหน้าที่ตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนด เช่น

1.) ตรวจสอบคัดกรองผู้ใช้บริการที่มีลักษณะที่ผิดปกติ แล้วระงับการใช้ทันที (เช่น โทรออกอย่างเดียว, โทรหาผู้รับที่ไม่ซ้ำ, โทรเป็นจำนวนมาก, โทรออกจากตำแหน่งเดียวกันทุกครั้ง หรือโทรจากพื้นที่แนวชายแดน)

2.) ผู้ให้บริการจะต้องระงับการใช้ทันที ที่ได้รับการแจ้งจาก กสทช. ว่าเป็นเบอร์ที่ต้องสงสัย

3.) ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบย้อนกลับเบอร์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในสัปดาห์แรกว่า ข้อมูลที่รับจดทะเบียนถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่

4.) ผู้ประกอบการ มีหน้าที่ตรวจสอบ SMS และ Links ก่อนจัดส่ง

5.) ผู้ประกอบการต้องมิให้ซิมบ็อกส์ (Sim box) ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือซิมบ็อกซ์ผี เขื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

6.) มาตรการบริหารจัดการซิมการ์ดสำหรับคนต่างชาติ ที่ออกไปก่อนหน้านี้ โดยการจำกัดจำนวนการลงทะเบียน ไม่เกิน 3 ซิมการ์ด/คน/ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกำหนดให้ใช้พาสปอร์ตในการยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนใช้ซิมการ์ดเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้ใช้เอกสารประเภทอื่น

7.) ซิมนักท่องเที่ยว (Tourist SIM) ใช้งานได้ไม่เกิน 60 วัน โดยไม่สามารถเติมเงินเพื่อขยายระยะเวลาการใช้งานได้ และกรณีผู้ใช้บริการประสงค์ใช้งาน Tourist SIM ต่อเนื่อง ภายหลังครบกำหนดระยะเวลาใช้งาน จะต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการอีกครั้งหนึ่งก่อน จึงจะขยายระยะเวลาการใช้งานได้

ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้การป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น สกัดกั้นผู้กระทำผิดให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรคมนาคมต่าง ๆ ได้

Back to top button