
โบรกชี้เป้า 10 หุ้น “ฟันด์โฟลว์” ไหลเข้า รับ “เฟด” คงดอกเบี้ย 4.5%
โบรกฯ มองบวกธนาคารกลางสหรัฐมีมติคงดอกเบี้ย 4.5% หนุนเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า แนะลงทุน TRUE-ADVANC-MTC-THANI-GULF-GPSC-BGRIM-KTB-SCB-TTB เด่น
ผู้สื่อข่าวรายงาน อ้างอิง บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติ “คง” ดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5% ตามคาดการณ์ โดย FED ส่งสัญญาณไม่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าเพื่อป้องกันเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ประธาน FED ยังเผยว่ารอการปรับลดดอกเบี้ยได้และมองเห็นความเสี่ยงของ อัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานสูงขึ้น การเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งการปรับขึ้น TARIFF กำลังส่งผ่านผลกระทบไปยังภาคปฏิบัติ
ยีน เซโรกา ผู้อำนวยการบริหารท่าเรือลอสแอนเจลิส กล่าวว่า นับตั้งแต่ภาษี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีประเทศจีนที่อัตรา 145% ถูกบังคับใช้การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงอย่างมากราว 35-50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อีกทั้ง ผู้นำเข้าหลายรายได้ยกเลิกคำสั่งซื้อเดิมและหากมาตรการยังดำเนินต่อไปผู้บริโภคอเมริกันจะเผชิญราคาสินค้าที่แพงขึ้น และขาดแคลนสินค้าบางประเภท ถือเป็นเหตุปัจจัยกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
สำหรับทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน เม.ย.68 นั้น Consensus คาดการณ์ว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานจะปรับตัวลดลง แต่ภาคบริการยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ส่วนในระยะถัดไป เงินเฟ้อสหรัฐ มีโอกาสขยับขึ้นไปทำจุดพีคของปีในเดือน ก.ย. 68 ที่ระดับ 3.65% ซึ่งจะทำให้ห่างไกลกับกรอบเป้าหมายที่ 2% มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึงผลการประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังประกาศคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดที่ระดับ 4.50% โดย FED ส่งสัญญาญรอพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของ โดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ Fed ระบุเห็นเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้แข็งแกร่ง แม้ตัวเลข GDP ล่าสุดออกมาต่ำ แต่มีสาเหตุมาจากการเร่งนำเข้าก่อนผลของนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี Fed ยอมรับเห็นความเสี่ยงเชิงลบที่เพิ่มขึ้นสำหรับตัวเลขอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อ
โดยรวมตลาดตีความเป็น Hawkish เนื่องจากไม่ได้ปูแนวทางหรือให้เนื้อเรื่องที่สนับสนุนสำหรับการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดไปในช่วงวันที่ 18 มิ.ย. 68 อีกทั้งในช่วง session Q&A ได้บอกว่า FED จะไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย โดยยังสามารถรอดูเพื่อประเมินสถานการณ์ได้
ขณะที่ ฝ่ายนักวิเคราะห์ว่ามองแม้การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงในเชิงพื้นฐานกับผลประกอบการบริษัท แต่มักเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลในเชิงแนวโน้มการลงทุน และหลายครั้งเป็นตัวแปรในการกำหนดทิศทางตลาด
สำหรับในรอบนี้แม้ FED จะยังไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและยังคงไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดว่าจะลดเมื่อไร แต่เชื่อช่วงเวลาที่เหมาะสมเริ่มใกล้เข้ามา ด้วยแวดล้อมภาวะการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลกมองเป็นบวกกับกลุ่มที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยในการประเมินมูลค่าและต้นทุนทางการเงินเช่น ICT อาทิ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, กลุ่มไฟแนนซ์ (FIN) อาทิ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI
กลุ่มโรงไฟฟ้า (UTIL) อาทิ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
รวมถึงกลุ่มธนาคาร (BANK) อาทิ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ที่มักเป็นเป้าของการซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยแนวโน้ม FED ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยชัดในครึ่งหลังปี 68 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกลับสกุลเงินอื่นๆ
โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องดึงดูดให้อาจเห็นเม็ดเงินต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดพันธบัตรไทยและตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่รวมถึงธนาคารจึงคาดได้อานิสงค์บวกด้วย
ด้านตลาดหุ้นไทยโดยรวมดูมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งจาก valuation ที่ถูกและเริ่มมีประเด็นข่าวบวกเข้ามาช่วยหนุน ทั้งเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาของกองทุน Thai ESGX และความคาดหวังเชิงบวกบนข้อตกลงทางการค้าที่อาจเห็นความคืบหน้าเร็วๆ นี้ เรามองแนวโน้มหลักของดัชนีเริ่มกลับมาฟื้นตัว กอปรกับฟันด์โฟลว์ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามา คาดแนวต้านดัชนีระยะสั้นที่บริเวณระดับ 1,215-1,235 จุด และแนวรับที่บริเวณ 1,185-1,200 จุด