
“กรุงไทย” ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15% ลดภาระการเงิน-กระตุ้นเศรษฐกิจ มีผลพรุ่งนี้
กรุงไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% ต่อปี ช่วยลูกค้าลดภาระการเงิน พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.075% - 0.20% ต่อปี สนับสนุนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อมีผล 15 พ.ค.นี้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงและคาดการณ์ได้ยากจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.15% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาระการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.075% – 0.20% ต่อปี มีผลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น
- อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.020% ต่อปี เป็น 6.870% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยเงินลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 6.825% ต่อปี เป็น 6.750% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.345% ต่อปี เป็น 7.295% ต่อปี
ทั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัว และสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ โดยออกมาตรการความช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
อีกทั้ง ยังร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน สินเชื่อกรุงไทยรวมหนี้ (ภาคประชาชน) และ สินเชื่อกรุงไทยบ้านแลกเงิน ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระทางการเงิน เสริมสภาพคล่องการทำธุรกิจและเพิ่มความคล่องตัวในการดำรงชีพ ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยล่าสุด ได้ขยายมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2568 เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้งรายย่อยและ SME ให้สามารถปรับตัวและเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน